Members

"เอกราช" กับมาตรฐานนักพากย์(ฟุตบอล)รุ่นใหม่ แบบไหนที่เรียกว่าพากย์ดี?

"เอกราช" กับมาตรฐานนักพากย์(ฟุตบอล)รุ่นใหม่ แบบไหนที่เรียกว่าพากย์ดี?

อาชีพ "นักพากย์" คือผู้สร้างสรรค์ในการใช้เสียง เพื่อเป็นส่วนเติมเต็มอรรถรสในการรับชม และกำหนดทิศทางอารมณ์ให้คนดูรู้สึกสนุกสนาน หรือน่าเบื่อจนพานอยากปิดทีวีไปเลยก็ได้ โดยเฉพาะผู้บรรยายเกมกีฬาฟุตบอลหรือที่เรียกกันติดปากว่า "นักพากย์บอล" ที่ไม่เพียงแต่บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามเท่านั้น ยังต้องนำเสนอเบื้องลึก เบื้องหลัง ข้อมูลสถิติที่น่าสนใจให้ผู้ฟังทราบด้วย

โดยปัจจุบันมีนักพากย์หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย จากการกระจายตัวของลิขสิทธิ์ฟุตบอลลีกต่าง ๆ พร้อมกับคำถามที่ว่า "มาตรฐานที่ดี" ของนักพากย์อยู่ตรงไหน และอะไรคือตัวชี้วัดว่าใครคนนั้น "พากย์ดี" ซึ่งหากย้อนกลับไปราว ๆ 4-5 ปีก่อน การดูกีฬาฟุตบอลจะถูกผูกขาดอยู่ที่กล่อง "ทรูวิชั่นส์" เจ้าเดียวเท่านั้น ติดกล่องเดียวสามารถดูบอลได้ครบ ทั้งพรีเมียร์ลีก อังกฤษ, กัลโช่ เซเรียอา, บุนเดสลีกา และลาลีกา สเปน แต่เมื่อลิขสิทธิ์ของแต่ละลีกถูกแยกย้ายไปคนละทิศละทาง ตามนายทุนที่ทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์ไปครอบครอง ฟุตบอลจึงกลายเป็นเรื่องของธุรกิจมากขึ้น

จากประเด็นการกระจายของลิขสิทธิ์ดังกล่าว ทำให้เกิดกลุ่ม "นักพากย์" หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย ว่ากันว่า นอกจากรายชื่อผู้เล่นที่ลงสนาม ชื่อผู้พากย์ก็เป็นสิ่งที่คอบอลหน้าจอต้องลุ้นไม่แพ้กัน หากได้ผู้พากย์ที่ถูกจริตกับผู้ชมก็ถือว่าดูสนุกถูกอกถูกใจกันไป แต่กับคนที่ไม่ชอบ แค่เห็นชื่อก็พากันร้องยี้แล้ว ทำให้คอบอลหลายคนถึงกับปิดเสียงพากย์ เปลี่ยนไปฟังเสียงพากย์จากต่างประเทศแทนก็มี

ส่วนปัญหาที่เห็นชัดเจนและมีการถกเถียงกันตามเว็บไซต์ฟุตบอลในปัจจุบันมี ทั้งการพากย์เอนเอียงการพากย์ผิดและข้อมูลที่ไม่ตรงความจริง หรือแม้กระทั่งการพากย์ออกนอกเกมจนสะเปะสะปะเกินไป หรือมุขขำ ๆ ในปริมาณที่เยอะจนรู้สึกเหมือนกำลังฟังวิทยุอยู่ จากประเด็นนักพากย์ดังกล่าว "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ "เอกราช เก่งทุกทาง" นักพากย์กีฬามือวางอันดับต้น ๆ ของประเทศ



ที่มีประสบการณ์ในวงการเกือบ 20 ปี และอยู่ในทุกการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยของการพากย์กีฬา ตั้งแต่ยุคหาข้อมูลพากย์จากการอ่านผ่านหนังสือ จนถึงปัจจุบันที่ข้อมูลหาได้ง่ายตามเว็บไซต์ต่างประเทศทั่วไป

เอกราชเล่าถึงทิศทางของ "นักพากย์" ในปัจจุบันว่า ที่ผ่านมา วงการนักพากย์ไม่เคยมีคำว่า "มาตรฐาน" มาก่อน จึงไม่สามารถพูดได้ว่ามาตรฐานที่ดีเป็นแบบไหน และปัจจุบันก็กลายเป็นเรื่องของรสนิยมคนดูไปแล้ว

"ตอนนี้อยู่ที่รสนิยมคนดูเป็นหลัก คนพากย์ก็สไตล์ใครสไตล์มัน อยู่ที่ความชอบ นักพากย์ในบ้านเรามันไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานว่าการพากย์กีฬาที่ดีเป็นอย่าง ไร กลายเป็นว่าแล้วแต่รสนิยมคนดู พากย์เข้าหูใครคนนั้นก็ชอบ แต่ถ้ามองภาพรวมวงการนักพากย์ ควรย้อนกลับไปที่พื้นฐานเลย แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า มาตรฐานการพากย์ที่ดีคืออะไร เพราะถ้าหาไม่เจอแก่นของมัน มันก็จะฟุ้งกระจาย ต่างคนต่างทำ แล้วอะไรคือดีหรือไม่ดี ก็ไม่มีใครตอบได้"

นักพากย์ผู้คร่ำหวอดยังมองต่อไปว่า ยุคหลัง ๆ คนดูกับผู้จ้างกลายเป็นตัวกำหนดการทำงานของนักพากย์ไปแล้ว แต่ว่ามันก็ต้องมีมาตรฐานของตัวเองด้วย ไม่งั้นใครอยากพากย์แบบไหนก็พากย์กันไป ตามใจตัวเอง อยากฟังแบบไหน เราเสิร์ฟให้หมด ทุกอย่างต้องมีรากเหง้าของตัวเอง เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้

"ทุกวันนี้ข้อมูลหาได้ง่ายมาก หากคนดูพยายามหาข้อมูลด้วยตัวเอง คนดูมีสิทธิ์ที่จะรู้มากกว่าคนพากย์เป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้น คนพากย์ต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิมสองเท่า" เอกราชกล่าว หากพิจารณาไปถึงรายละเอียดสไตล์นักพากย์บอลยุคนี้ ที่มีประเด็นถกเถียงมากมาย ทั้งความหวือหวาในมุขตลก การพากย์ผิด หรือพากย์มั่ว เอกราชเล่าถึงนักพากย์ต่างประเทศให้ฟังว่า

"ที่เมืองนอกเขาเน้นทุกอย่างเลย เขารู้จักและเข้าใจเกมจริง ๆ ไม่ได้พากย์แค่เบื้องหน้าแบบชอตต่อชอตอย่างเดียว จังหวะการพากย์เขาดีมาก รู้ว่าช่วงไหนควรพูดอะไร รู้ว่าช่วงไหนควรสอดแทรกข้อมูล จังหวะควรอยู่กับเกม จังหวะไหนควรวิเคราะห์ ส่วนมุขตลกก็เป็นตลกจากเกมแทบทั้งสิ้น ซึ่งมันมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า ส่วนในบ้านเรามันมีการพยายามสร้างสไตล์ใหม่ ๆ ออกมาเยอะ ผสมผสานความบันเทิงเข้าไป กลายเป็นสปอร์ตเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งตรงนั้นมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากทำออกมาไม่กลมกลืนก็จะเสียความเป็นกีฬาไปเลย ซึ่งผมเคยทำมาก่อน แต่คิดว่าจะไม่ทำแล้ว เพราะคิดว่าพอเยอะไปมันเป็นการบั่นทอนกีฬาลง อยากให้ผู้บรรยายรุ่นหรือคนดูใหม่ได้รู้จักเนื้อแท้ของมันจริง ๆ มากกว่าความบันเทิง เพราะกีฬามันดูสนุกในตัวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องนำความบันเทิงมาใส่มากเกินไป"




ทั้งนี้ เอกราชมองว่า นักพากย์หน้าใหม่ไม่ได้เข้ามาทำให้คุณภาพลดลง แต่นักพากย์ต้องพยายามให้มากขึ้นหลายเท่า เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยน คนดูเอาใจยากขึ้น และฟุตบอลต่างประเทศรายการใหญ่ ๆ มีมาตรฐานการเล่นสูง คนดูจับจ้องเยอะ ความคาดหวังก็สูงตาม หากพลาดก็กลายเป็นถูกตำหนิ

"ทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น ตอนผมทำใหม่ ๆ เริ่มจากบอลลีกบราซิล ฮอลแลนด์มาก่อน ก่อนจะได้พากย์พรีเมียร์ลีก กัลโช่ พอมาถึงสนามใหญ่มันเป็นระดับที่คุณต้องเป๊ะ และเป็นระดับมืออาชีพแล้ว เพราะรายการใหญ่มีคนติดตามเยอะ คนดูคาดหวังเพราะมาตรฐานฟุตบอลมันสูงมาก พอถึงจุดนั้นเราต้องพร้อมพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะ ฟุตบอลยูโร ฟุตบอลโลกที่มีความละเอียดสูง มันต้องมีความเป็นมืออาชีพ สมัยผมพากย์ฟุตบอลโลก 2002 ที่ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ มีการจ้างฝรั่งมาเทรนพื้นฐานการเป็นนักพากย์ที่ดี จากนั้นมีประกาศนียบัตรจากฟีฟ่ามอบให้ มันจริงจังกันถึงขนาดนั้นเลย ส่วนตอนนี้เป็นเรื่องของเจ้าของลิขสิทธิ์จัดการ ค่ายใครค่ายมันไปเลย"

จากการสำรวจความเห็นของผู้ชมฟุตบอลในปัจจุบัน ถึงนักพากย์ขาประจำของแต่ละกล่องทีวีดาวเทียมพบว่า แต่ละกล่องถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล มีทิศทางสไตล์การพากย์คนละแบบ เริ่มจากทรูวิชั่นส์ที่เป็นทีมพากย์เก่าที่ทำมาค่อนข้างนาน เป็นสไตล์สุขุม จริงจัง เน้นถ่ายทอดข้อมูลและอารมณ์ของเกมเป็นหลัก จะไม่ค่อยหวือหวาในเรื่องมุขตลกเท่าไหร่นัก ส่วนแกรมมี่จะเน้นที่ข้อมูลเป็นพื้นฐาน เติมความสนุกตามจังหวะของเกม ตามสไตล์คนพากย์ที่เคยทำวิทยุมาก่อน ส่วนทางอาร์เอสจะคล้าย ๆ กัน เน้นข้อมูลก่อนและตามจังหวะเกม โดยสอดแทรกความหวือหวาและขำ ๆ เสริมเข้าไป ส่วนซีทีเอชจะเน้นข้อมูลเป็นพื้นฐานเช่นกัน และเติมด้วยสไตล์อันจัดจ้านของแต่ละคน มีมุขตลกสอดแทรกตามเอกลักษณ์ส่วนตัวของผู้พากย์

ส่วนนักพากย์ประจำกล่องดูบอล มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อกล่องดูบอลหรือไม่ ? เอกราชมองว่า นักพากย์ไม่มีผลต่อการเลือกติดกล่องค่ายต่าง ๆ เพราะผู้บริโภคสนใจที่ตัวโปรดักต์มากกว่านั่นคือ "ฟุตบอล" หากไม่พอใจเสียงก็สามารถเปลี่ยนฟังซาวนด์อังกฤษได้อยู่แล้ว และหากต้องการยกระดับอาชีพนักพากย์ให้มีคุณภาพขึ้นมา นายทุนควรให้ความสำคัญกับจุดนี้มากขึ้นเช่นกัน

"มันไม่เหมือนฝรั่ง นักพากย์ในไทยไม่ได้มีสัญญาตายตัว เมืองนอกจะเซ็นสัญญาชัดเจนเป็นรายปี มีความเป็นมืออาชีพมากกว่า ของเรานักพากย์ไม่ค่อยมีสิทธิ์มีเสียงอะไรเท่าไหร่ ยังยืนยันว่าถ้าจะทำงานให้ดี ต้องร่วมมือกันทุกส่วน สมัยนี้คุณภาพการทำงานน้อย คนจ้าง นายทุนต้องรับฟัง ทุกอย่างสำคัญหมด แม้แต่ห้องพากย์ อุปกรณ์การพากย์มันก็มีผลต่องาน ช่วงหนึ่งที่ผมทำทีวีในห้องพากย์ยังเป็นหน้าจอ 14 นิ้วอยู่เลย แล้วจะให้เห็นอะไรที่ชัดเจนขนาดไหน คนดูทางบ้านเห็นชัดกว่าคนพากย์ซะอีกหลาย ๆ ครั้งคนดูไม่ได้มาเห็นว่าคนพากย์ต้องเจออะไรบ้าง บางทีปัญหาเหล่านี้ทำให้เราเหนื่อย เราอยากทำงานออกมาให้ดี แต่ไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้หมด"

"อย่างตอนช่วงสมัยที่พากย์บอลโลก ต้องเข้าไปดูห้องที่พากย์ก่อน ถ้าพากย์แบบเห็นตัว เราต้องดูว่าทีวีอยู่ไกลไปหรือเปล่า อาจมองไม่ชัด ขยับเข้ามาได้มั้ย หูฟังขอเป็นซาวนด์ต่างประเทศได้หรือเปล่า ขอเสียงไทยเข้าไปด้วย เพื่อจะได้ฟังเสียงตัวเองชัด ไม่ให้ตะโกนดังเกินไป เรื่องพวกนี้เป็นขั้นตอนของการทำงาน ถ้าทำตรงนี้ได้จะทำให้นักพากย์ทำงานได้แบบสบายใจได้มากขึ้น แต่นักพากย์บางคนก็แบบง่าย ๆ อะไรก็ได้ ไม่ซีเรียส นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมหยุดพากย์แล้ว"


เอกราชเสริมวิธีการทำงาน การเตรียมตัวที่ดีว่า นักพากย์ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น มีเวลาเตรียมข้อมูล เวลาทำงานเราจะได้พร้อมเต็มที่ ทีมงานสมัยก่อนที่พากย์บอลโลกจะเปิดโรงแรมให้นอนเลย เพื่อที่จะไม่ต้องเดินทางไปมาในแต่ละวัน แต่สมัยนี้ส่วนใหญ่กลายเป็นจ้างมาแล้ว คุณก็รับผิดชอบพากย์ไป บางทีสนใจกับโปรดักชั่นการผลิตมากเกินไปจนลืมตรงนี้

"ถึงเวลาที่เราต้องกลับถามตัวเองถึงคำว่า มาตรฐานแล้ว ถ้าอยากได้นักพากย์ที่ดีต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ตัวนักพากย์เองต้องฝึกฝน ตั้งใจฝึก ทำการบ้านเยอะ ๆ ในส่วนของนายทุนก็ต้องดูแลการทำงานของนักพากย์ไปด้วย นายทุนควรให้เกียรติอาชีพนักพากย์มากกว่านี้ ทุกวันนี้อาชีพนักพากย์แทบจะไม่มีใครให้เกียรติแล้ว การจะพัฒนาอะไรนายทุนควรจะรับฟัง เพื่อให้งานออกมาดีและมีคุณภาพที่สุด ไม่ใช่แค่เอะอะก็เอาสนุก ตลกเข้าว่า เพราะกีฬามันมีความสนุกในตัวอยู่แล้ว ไม่ต้องเติมอะไรมาก"

สุดท้ายคำว่ามาตรฐานอาจไม่มีอยู่จริง และไม่สามารถจับต้องได้ในวงการนักพากย์ไทย สิ่งเหล่านี้นายทุน คนดู และนักพากย์ อาจต้องรับผิดชอบร่วมกันในสิ่งที่เกิดขึ้นกับ "รสนิยม" ที่กลายเป็น "ค่านิยม" ไปแล้ว และพยายามร่วมกันสร้าง "มาตรฐาน" ที่ดีขึ้นมาใหม่อย่างจริงจัง อาจเป็นเรื่องที่ยากหรือสายจนมองไม่เห็นความเป็นไปได้แล้วก็ตาม

เครดิต : ข่าวสด http://www.khaosod.co.th/

Views: 1576

Reply to This

Replies to This Discussion

เห็นด้วยกับคุณเอกราชครับ และที่สำคัญผมชอบการพากของคุณเอกราชมากๆ เป็นกลางดีครับ บางครั้งก็เห็นใส่เสื้อซิตี้ด้วย บ่อยๆจนบางครั้งนึกว่า พี่เค้าเป็นแฟนบอลซิตี้เลยทีเดียว อิอิ

คนนี้ละ ที่พวกเราชื่นชอบ อิอิ

คือพวกที่พากษ์อยู่ที่เก่าทรูไม่ได้ตามมาพากษ์ที่ CTH ที่นี่เขาเอาจาก พวก สยามสปอร์ตนักพากษ์จากคลื่นวิทยุมาพากษ์นะคับ...

ใครก็รู้ตั้งแต่ ฟังวิทยุว่าพวกนี้พากษ์เอามันสะใจตัวเอง แต่แฟนบอลบางกลุ่มก็ติดเพราะเป็นแฟนบอลทีมเดียวกีนกับนักพากษ์อ่ะ...

แต่คนไม่พอใจก็เยอะยิ่ง บ.บู๋ ชัดเจนเวลาพากษ์ เด็กผีเข้าไส้.... 

หวังว่าประเทศไทยจะจัดให้มีการอบรมนักพากย์ให้เป็นมืออาชีพ และมีข้อมูลแน่นจริง บางคนมาพากย์ ยังไม่รู้จักร๔ปเกมส์ก็มี นิงสดช็อตต่อช็อต ทำให้มันไม่เป็นมืออาชีพ ควนจะมีการหาตัวนักพากย์จากกลุ่มนายทุน เป็นการเปิดโอกาศให้อาชีพนักพากย์ได้มีการการันตีว่ารู้จริงๆ

มาราฐานงวัดยากจริงๆอ่ะครับ สำคัญที่สุดผมว่าจรรยาบัญของคนพากครับ

ไม่มีปัญหาตรงนี้ เพราะไม่ได้ฟังไทยนานแล้วฮะ

เบื่อคนพากบอลไทยด้วย

RSS

© 2024   Created by thaiMCFC.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service

Text Link Ads script error: local_200939.xml is not writable. Please set write permissions on local_200939.xml.