Members

เปลือยดีลพลิกฟ้า ‘อาบูดาบี ซิตี้’ ทำไมถึงเลือก mancity

        

 

         ลำพังข่าวการเข้ามาเทคโอเวอร์ทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ย่อมไม่สร้างข่าวตื่นตะลึงอะไรมากมายนัก เนื่องจาก “ซิตี้” นั้นก็เป็นเพียงแค่ทีมระดับกลางและสถานการณ์ในการบริหารทีมก็มีปัจจัยเสี่ยงเป็นทุนเดิมจากกรณีปัญหารุมเร้าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

            อดีตเจ้าของซิตี้คนเก่าใชเพียงจะมีปัญหาเรื่องการเงินที่ถูกอายัดไว้ที่ไทยหลายหมื่นล้านบาทแล้ว กรณีเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติจากทางพรีเมียร์ลีกที่เข้มงวดและส่งสัญญาณอันตรายว่าอาจจะไม่ผ่านการตรวจสอบเนื่องจากมีหนีคดีความที่ไทยมาอยู่ในอังกฤษ ซึ่งอยู่ในฐานะไม่ต่างะไรจากผู้ร้ายข้ามแดน

            การที่จะมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจกันเพื่อปลดภาระของ พ.ต.ท.ทักษิณ และความมั่นคงของซิตี้ก็เป็นทางออกสำหรับทุกฝ่าย

            แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการผ่องถ่ายอำนาจจากนายทุนคนหนึ่งไปสู่นายทุนอีกคนหนึ่ง

            มันกลับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความตื่นตะลึงและกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกคาดว่าอาจจะพลิกโฉมหน้าของเกมฟุตบอลอังกฤษอย่างสิ้นเชิงอีกครั้ง

            ด้วยอำนาจเงินมหาศาลของอาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป ฟอร์ ดีเวลลอปเมนต์ (Abu Dhabi United Group for Development หรือ ADUG) – บริษัทที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษเพื่อใช้ทำการเทคโอเวอร์สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นการเฉพาะ - มันสามารถดลบันดาลให้ทีมแห่งอีสท์แลนด์กระชากโรบินโญ่ ซูเปอร์สตาร์ระดับโลกเข้ามาร่วมทีมได้ภายในระยะเวลาการเจรจาแค่ 5 ชั่วโมงเท่านั้น

            การซื้อตัวครั้งนี้เป็นการประชาสัมพันธ์พลังและอำนาจอันล้นฟ้าของกลุ่มทุนที่ร่ำรวยด้วย “ทองคำดำ” ที่ฝังอยู่ใต้ผืนดิน ที่ทำให้ชื่อของพวกเขาติดปากชาวโลกอย่างรวดเร็ว

            ด้วยอำนาจทางการเงินของพวกเขานั้นยากนักจะหยั่งถึง ไม่ต่างจากหลุมดำที่มืดมิดอนธการที่เจาะลึกลงไปใต้ผิวโลกเพื่อขุดหาน้ำมันมาขาย

            และด้วยเป้าหมายที่ไม่ใช่เรื่องของการประกอบธุรกิจทำให้พวกเขาไม่ยี่หระที่จะใช้จ่ายเงิน เป็นจำนวนมหาศาลในความรู้สึกของผู้คน - ที่เป็นเพียงเศษเงินในความรู้สึกของพวกเขา ผู้มีทรัพย์สินรวมกันไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านปอนด์ หรือกว่า 35 ล้านล้านบาท (งบประมาณประเทศไทยกว่า 30 ปี)

            สิ่งที่ต้องตอกย้ำคือเป้าหมายของ ADUG ภายใต้การนำของดร.สุไลมาน อัล-ฟาฮิม ซีอีโอผู้จะเป็นตัวขับเคลื่อนสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คือการสร้างทีมที่ถูกขนานนามใหม่เป็น “มิดเดิล-อีสท์ แลนด์” นั้นไม่ใช่การเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่เป็นการสร้าง “ภาพ” แห่งความมั่งคั่งร่ำรวยของทุนจากอาหรับให้ประจักษ์ในสายตาและความรู้สึกของชาวโลก

            เหนือกว่านั้นคือการลบภาพการอยู่ใต้ร่มเงาของ “ดูไบ” อีกหนึ่งรัฐใน 7 รัฐของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ดูมีชื่อเสียงมากกว่าในสายตาของชาวโลก

            ที่จำเป็นต้องกล่าวนำเสียยืดยาวขนาดนี้นั้นก็เพื่อสร้างความ “เข้าใจ” อันดีให้เกิดขึ้นถึงเบื้องหลังของการเจรจาที่มีโอกาสสูงที่จะพลิกชะตาโลกฟุตบอลไปอีกด้าน

            หลังจากนี้เราจะได้ทราบคำตอบต่อคำถามมากมายในเรื่องของการเจรจา

            โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่สุดว่าทำไมต้องเป็นทีม “ซิตี้”?

            เชิญร่วมติดตามไปพร้อมกันได้ครับ

 

 

 

            เช้าวันใหม่ในวันที่ 31 ส.ค. - สื่อมวลชนในอังกฤษต่างพากันโหมกระพือข่าวการตอบตกลงที่จะขายสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของสโมสรผู้อื้อฉาว โดยมีการเปิดเผยว่าเป็นกลุ่มทุนจากอาบูดาบี ที่ชื่ออาบูดาบี ยูไนเต็ด ซึ่งมีแผนการที่จะเปิด “ฟ้า” ใหม่ให้แก่สโมสรฟุตบอลแห่งนี้ให้ก้าวไปสู่การเป็นสโมสรฟุตบอลระดับโลกที่แท้จริง

            ช่วงดึกของวันเดียวกัน สื่อในอังกฤษก็ต้องตื่นเต้นกับข่าวการซื้อตัวโรบินโญ่ มาจากเรอัล มาดริดด้วยค่าตัวเป็นสถิติของเมืองผู้ดีถึง 32.5 ล้านปอนด์ (บางสำนักระบุ 34.5 ล้านปอนด์)

            การย้ายทีมที่เกิดขึ้นคล้อยหลังจากที่มีการยืนยันเรื่องการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง และเป็นไม่กี่ชั่วโมงที่พวกเขายื่นข้อเสนอเพื่อขอซื้อดาวดังมากมายไม่ว่าจะเป็นดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ, ดาวิด บีญ่า และมาริโอ โกเมซ ก่อนที่จะมาจบที่โรบินโญ่ ที่พร้อมจะย้ายทีมโดยไม่สนใจเหตุผลอื่นนอกจากไม่ต้องการอยู่ในซานติอาโก เบอร์นาบิวต่อไป

            มันเป็นดีลที่น่าเซอร์ไพรซ์

            ขณะเดียวกันก็เป็นดีลที่น่าสะพรึงกลัวด้วย

 

            ความสำเร็จในการเข้ามายึดครองสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของอาบูดาบี ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่และเป็นการก้าวพ้นจากร่มเงาของดูไบ รัฐคู่แข่งในชาติเดียวกันได้อย่างน่าภาคภูมิ

            หากแม้นไม่มีซึ่งตึกระฟ้าที่สูงใหญ่ตระหง่านที่สุดในโลก หรือแหล่งช็อปปิ้งที่มลังเมลืองไปด้วยขนาดใหญ่ยักษ์และแบรนด์สินค้าที่ล้วนเป็นที่สุดของโลกเหมือนดูไบ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาบูดาบี - เมืองหลวงแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็เป็นเมืองที่มีความสำคัญไม่แตกต่าง

            น้ำมันกว่า 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวันถูกผลิตขึ้นที่นี่ ซึ่งจะนำไปสู่เงินมหาศาลกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 365 วัน

            การเข้ามาซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ อาจจะใช้เงินไม่มากมายนักเพียงแค่ 150 ล้านปอนด์ แต่ผลที่ได้นั้นคุ้มค่ามหาศาลในแผนการลงทุนต่อเนื่องที่ใช้งบประมาณกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการเป็นพันธมิตรกับฮอลลีวูด, การเข้าถึงสัญลักษณ์ของนิวยอร์คในอาคารไครสเลอร์ และใช้เงินหลายพันล้านเหรียญในการซื้อหุ้นของซิตีแบงค์, เฟอร์รารี่ และซื้อกลุ่มคาร์ไลล์

            “แง่มุมที่สำคัญที่สุดก็คืออาบูดาบีนั้นมีการขับเคลื่อนโดยกลุ่มผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินธุรกิจการลงทุนในต่างประเทศ และพื้นที่ที่มีความ เซ็กซี่สำหรับกลุ่มคนรวยที่จะเข้าไปลงทุนนั้นก็คือด้านสื่อและด้านกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพรีเมียร์ลีก” ฟาดี้ อัล ซาอิด ผู้นำในกลุ่มบริษัทการลงทุน ING ที่คาดว่าจะมีการใช้เงินงบประมาณอีกกว่า 1 พันล้านเหรียญสรหัฐฯในปีหน้า

            “การสร้างชื่อเสียงให้กับอาบูดาบีนั้นเป็นเป้าหมายในตัวของมันเองอยู่แล้ว การเจรจาตกลงครั้งนี้ในรายการที่มีการแข่งขันสูงอย่างพรีเมียร์ลีกย่อมทำให้มีการพูดถึงทุกคน และพวกเขาก็ได้สร้างความฮือฮาขึ้นอย่างที่ต้องการได้สำเร็จ”

            ในเชิงสัญลักษณ์ กรณีความตกต่ำของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ สโมสรที่ชาวเมืองแมนเชสเตอร์บางส่วนอ้างว่าเป็นสโมสรของเมืองการค้าทางตอนเหนือที่สำคัญของอังกฤษที่แท้จริง ไม่ใช่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สโมสรที่แปรสภาพเป็นสโมสรของแฟนบอลต่างชาติทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาก็เป็นแค่ “มวยรอง”

            เรืองนี้ไม่ต่างอะไรจากชื่อเสียงของอาบูดาบีที่เป็นรองดูไบ ในความรู้สึกของสื่อต่างชาติที่ทำให้คิดถึงเกาะที่สวยงามเต็มไปด้วยต้นปาล์ม, มีลานสกีในร่ม และแหล่งช็อปปิ้งมอลล์ที่เต็มไปด้วยดีไซเนอร์ระดับโลก

            การสร้างชื่อเสียงของอาบูดาบี ด้วยการซื้อสโมสรที่อยู่ในลีกที่ได้รับความนิยมสูงสุดและสร้างกระแสฮือฮาด้วยการทุ่มเงินก้อนหนึ่งเพื่อแลกมาซึ่งหนึ่งในนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในโลกในการเจรจาที่เหลือเชื่อในระยะเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง ถือเป็นการประชสัมพันธ์ตัวเองได้อย่างร้ายกาจที่สุด

            ความสำเร็จครั้งนี้ยังเป็นการส่งเสริมชื่อเสียงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่กำลังมีนโยบายในการ “สร้างชาติ” อย่างแข็งขันด้วยการค้าและการลงทุนระดับโลกเช่นนี้อีกด้วย

            และพูดให้ตรงกว่านั้นคือ การซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ครั้งนี้ เป็นการลงทุนที่สร้างชื่อเสียงให้กับพวกเขาได้มากที่สุดนับจนถึงทุกวันนี้

 

            หลังการเข้ามายึดกุมอำนาจผ่านทาง “อาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป” - บริษัทจัดตั้งพิเศษที่ก่อตั้งโดยราชสกุลอาบูดาบีเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ - พวกเขาก็ไม่เสียเวลาในการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยการซื้อโรบินโญ่มาจากเรอัล มาดริด โดยที่แทบไม่มีใครอยากจะเชื่อ

            แม้กระทั่งริชาร์ด ดันน์ กัปตันทีมของแมนฯ ซิตี้เองก็ยอมรับว่าเหมือนหลับแล้วตื่นมาบนโลกนิทาน 1001 อาหรับราตรี

            ดร.สุไลมาน อัล-ฟาฮิม นักธุรกิจที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “โดนัลด์ ทรัมพ์ แห่งอาบูดาบี” และเป็นเจ้าพ่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นหัวเรือสำคัญในการบริหารสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ไปสู่ความเป็นสโมสรอันดับหนึ่งของโลก ได้เน้นย้ำว่าเป้าหมายที่จะได้รับความสำเร็จเป็นถ้วยรางวัล

            แต่เป็นการย้ำจุดยืนและเสริมความโดดเด่นของอาบูดาบีในฐานะเมืองหลวงของทั้งการกีฬาและธุรกิจที่มีน้ำหนักความสำคัญมากกว่า

            “พวกเขามองเรื่องนี้เป็นการลงทุน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ชั้นยอดด้วยเช่นกัน” อัล ซาอิดกล่าว

            อย่างไรก็ดีมันย่อมมีคำถามเกิดขึ้นว่า หากต้องการที่จะสร้างชื่อเสียงจริงเหตุใดจึงไม่ไปซื้อสโมสรดังอันดับต้นๆที่ประสบปัญหาภาวะทางการเงินอยู่ในขณะนี้อย่างลิเวอร์พูลแทน?

ถึงจะประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อในการ “ประชาสัมพันธ์” ตัวเองต่อชาวโลก

            แต่มันก็ยังมีคำถามที่หาคำตอบได้ยากว่าเหตุใดกลุ่มทุนจากอาบูดาบี จึงเลือกที่จะลงทุนกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้แทนที่จะเป็นสโมสรที่ดังกว่าอย่างลิเวอร์พูล หรือแม้กระทั่งอาร์เซนอล ที่ก็ได้รับเงินก้อนใหญ่จากเอมิเรตส์ แอร์ไลน์ ที่ขอใช้ชื่อสนามที่แอชเบอร์ตัน โกรฟ เป็น “เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม” ในสัญญาระยะเวลา 15 ปีด้วยการจ่ายเงินกว่า 100 ล้านปอนด์

            ทำไมกันนะ?

            แล้วแผนการต่อๆไปของพวกเขาที่จะดำเนินการนั้นมีอย่างไรกันบ้าง

            อนาคตของแมนเชสเตอร์ ซิตี้จะอยู่ตรงไหน?

            นี่คือบทสรุปของการเปิดโปงแผนพลิกฟ้าของชาวอาบูดาบีครับ

 

 

            ย้อนหลังกลับไปในปี 2007 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สามารถผลิตน้ำมันได้มากถึงวันละ 2.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งขณะนั้นราคาเฉลี่ยอยู่ที่บาร์เรลละ 68 เหรียฐสหรัฐฯ นำเงินเข้าสู่ประเทศได้ถึงกว่า 84,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากธุรกิจปิโตรเคมี

            รายได้จำนวนนี้กว่า 90-95% มาจากอาบูดาบี

            “อาบูดาบี เป็นศูนย์กลางพลังงานของยูเออี” กิยาส กุ๊กเคนต์ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของธนาคารแห่งชาติของอาบูดาบี เปิดเผยข้อเท็จจริงอีกด้านที่น้อยคนจะรู้

            “ดูไบจะถูกมองในฐานะศูนย์กลางทางการค้ามากกว่า ดังนั้นอาบูดาบีจึงไม่ได้มีความจำเป็นเรื่องด่วนอะไรเหมือนดูไบในการที่จะต้องสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้น และต้องสร้างภาพให้ดูดีไว้ก่อน”

            แต่เมื่อเข้ามาทำการลงทุนในแมนเชสเตอร์ ซิตี้แล้ว แฟนบอล “ซิตี้” ก็สามารถช่วยกันแปลงเนื้อร้องเพลง Blue Moon ให้เป็นเวอร์ชั่นภาษาอาหรับ ระหว่างที่รอทางอาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป (ADUG) ทำการกวาดต้อนนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ของโลกเข้ามาร่วมทีมด้วยเงินงบประมาณกว่า 450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในอีก 2 ฤดูกาลข้างหน้า

            โดยเป้าหมายอยู่ที่การทำให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กลายเป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพรีเมียร์ลีก

            ภายใต้พายุทะเลทรายแห่งการลงทุนที่โหมกระหน่ำทั่วทุกมุมโลกในด้านต่างๆทั้งการค้า กีฬา ธุรกิจ ที่ปัจจุบันมีทุนอาหรับเข้าครอบงำเกือบทั้งหมด

            ตัวอย่างเช่น มูบาดาลา อีกหนึ่งบริษัทจัดตั้งภายใต้ราชสกุลอัล นาห์ยาน ที่นอกเหนือจากการลงทุนใน “ไครสเลอร์” แล้วยังลงทุนในด้านอื่นๆรวมถึงการซื้อหุ้นในบริษัทเฟอร์รารี่ และเป็นจุดเริ่มต้นสู่การนำการแข่งขันฟอร์มูลา วัน (F1) มาขับเคี่ยวกันในถนนกลางทะเลทรายในอาบูดาล (อีกหนึ่งรัฐของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) นับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

            ADUG ภายใต้การนำของดร.สุไลมาน อัล-ฟาฮิม - ความจริงแล้วก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ทำธุรกิจให้กับชีค มานซูร์ บิน ซาเย็ด อัล นาห์ยาน - ก็ไม่ได้ห่างไกลจากการลงทุนในเกมกีฬา เพราะบริษัทไฮดรา พรอพเพอร์ตี้ของเขาเพิ่งจะทำการสร้างสถาบันฝึกสอนฟุตบอลในอาบูดาบี ร่วมกับสโมสรอินเตอร์ มิลาน

            การเซ็นสัญญานั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. ระหว่างทางด้านทีมเนรัซซูรี่ เจ้าของแชมป์กัลโช่ เซรี อา และสภากีฬาของอาบูดาบี ที่จะสร้างโรงเรียนลูกหนังกลางอ่าวขึ้น ซึ่งทางอินเตอร์เชื่อว่าจะเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญในการเฟ้นหานักเตะพรสวรรค์ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

 

            แต่การที่หันไปเทคโอเวอร์สโมสรในระดับกลางอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่แล้งไร้ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมานานกว่า 32 ปี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็เคยยอมรับว่าสนใจที่จะลงทุนในสโมสรระดับที่ดีกว่าอย่างอาร์เซนอล, ลิเวอร์พูล หรือแม้กระทั่งนิวคาสเซิล จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลก

            และเป็นคำถามที่หลายคนคาใจ?

            แต่ทางด้านฟาดี้ อัล ซาอิด ประธานบริษัท ING เชื่อว่าการซื้อ “ซิตี้” นั้นจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อย่างมหาศาล

            เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย - ซิตี้ และอาบูดาบี

            “กับการที่อาบูดาบีมีเงินทุนมากมายมหาศาลและคนที่อยู่เบื้องหลังการเจรจาก็มีเงินมากมายมหาศาลเช่นกัน พวกเขาจึงอยากที่จะใช้เงินก้อนนี้ในการพลิกชะตากรรมของสโมสรแห่งนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เหมือนในสิ่งที่มหาเศรษฐีรัสเซีย โรมัน อบราโมวิช เคยทำกับรัสเซียเมื่อ 5 ปีก่อน” อัล ซาอิดเผย

            “มันยังเป็นก้าวย่างที่ฉลาดล้ำกว่าในการที่จะสร้างชื่อเสียงให้แก่อาบูดาบีด้วย และผมคิดว่าพวกเขามีทั้งความกล้าและเงินทองมากมายพอที่จะทำได้จริง บางทีมันอาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ดีที่สุด แต่มันจะเห็นผลได้ในระยะยาว”

            ส่วนคำถามว่าแล้วทำไมต้องเป็นแมนฯ ซิตี้ ทำไมไม่เป็นทีมระดับกลางทีมอื่นก็ได้? อัล ซาอิดตอบอย่างชัดเจนว่าเหตุผลเป็นเพราะในช่วงที่ผ่านมาสโมสรแห่งนี้ประสบปัญหาในการบริหารโดยเฉพาะตัวเจ้าของอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังต้องคดีความอยู่และตกอยู่ภายใต้ความกดดันมหาศาล

            “เวลาที่เราจะติดต่อกับสโมสรไหน เราก็ต้องเลือกมองเป้าหมายที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่าเอาไว้ก่อน

            “ถ้าจะไปเอาสโมสรที่ใหญ่และดีกว่านี้เราอาจต้องจ่ายเงินมากกว่านี้มาก และอาจจะมีการต่อต้านจากแฟนๆด้วย มันจึงเป็นการง่ายกว่าที่จะมองหาสโมสรในระดับรองลงมาและเมื่อมองไปที่โครงสร้างการถือครองกรรมสิทธิ์ในสโมสรแห่งนี้ด้วยแล้ว มันขึ้นอยู่กับคนคนเดียวเท่านั้น”

            และนั่นเป็นคำตอบว่าทำไมจึงต้องเป็นแมนเชสเตอร์ ซิตี้!

            อย่างไรก็ดี หลังเสียงความฮือฮาในเรื่องราวนิทานอาหรับราตรีฉบับแมนเชสเตอร์จะค่อยๆซาลงไป ฟุตบอลอังกฤษก็อาจเตรียมต้อนรับเรื่องราวใหม่ที่อาจจะสร้างความฮือฮาได้มากกว่ากับการเตรียมเข้ายึดครองสโมสรลิเวอร์พูล โดยกลุ่มทุนดูไบ อินเตอร์เนชันแนล แคปิตอล (DIC) – ปีกธุรกิจของดูไบ ภายใต้สายตาคมกริบของชีคโมฮัมเหม็ด บิน ราชิน อัล-มัคตูม

            DIC ในการนำของซาเมียร์ อัล-อันซารี่ ซีอีโอ มีการแสดงจุดยืนมานับตั้งแต่ปี 2006 ว่าต้องการจะยึดครองสโมสรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของอังกฤษให้ได้แม้จะล้มเหลวในการเจรจามาตลอดนับตั้งแต่พลาดโดนจอร์จ จิลเล็ตต์และทอม ฮิคส์ สองเจ้าของสโมสรปาดหน้าคว้าเอาหุ้นในมือเดวิด มัวร์สไปครองในนาทีสุดท้าย

            อัล-อันซารี่ คือนักธุรกิจหนุ่มที่เกิดในคูเวตแต่ไปเติบโตในอังกฤษ และเป็นเดอะ ค็อปเลือดข้นมากว่า 30 ปี ที่มีกำหนดการประจำปีว่าในทุกเดือน ส.ค. จะนำลูกชายมาเที่ยวชมเกมฟุตบอลของลิเวอร์พูลทุกนัดในแอนฟิลด์

            แม้กระทั่งที่หน้าจอโทรศัพท์ก็ยังมีตราสัญลักษณ์ “หงส์แดง” ปรากฏที่หน้าจอโทรศัพท์มือถือแบล็คเบอร์รี่

            แต่การเจรจาของ DIC นั้นยังเป็นเรื่องในอนาคตที่ไกลกว่าอนาคตที่ ADUG ได้เริ่มต้นทำการเปลี่ยนแปลงแมนเชสเตอร์ ซิตี้

            เรามีสิทธิ์ที่จะคาดหวังว่า DIC ในฐานะตัวแทนของดูไบคงจะไม่ยอมให้ ADUG ของอาบูดาบีตบหน้ากันได้ง่ายๆแบบนี้ และคงจะต้องมีการ “สู้” ในเชิงธุรกิจการแข่งขันเพื่อเรียกศรัทธาและบารมีกลับคืนมาบ้าง

            โอกาสที่จะเกิด “สงครามอ่าว” ในเกมฟุตบอลอังกฤษ มองตามเหตุและปัจจัยแล้วจึงมีค่อนข้างสูง

            เพียงแต่สงครามครั้งนี้ไม่มีผู้แพ้

            มีแต่ชัยชนะของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในฐานะผู้ครองโลกเท่านั้น ..

 

เบื้องหลังการเจรจา 13 ชั่วโมงของดร.สุไลมาน อัล-ฟาฮิม

            ดร.สุไลมาน ได้เข้าเช็คอินที่สนามบินอาบูดาบีเพื่อเตรียมเดินทางไปนิวยอร์คแล้ว แต่มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นมาก่อนเพื่อให้ละทิ้งเที่ยวบินดังกล่าวและไปพบกับ “คนแปลกหน้า” ที่ร้านกาแฟคอสต้า ซึ่งมันไม่ได้อยู่ในกำหนดการของเขาเลย

            แต่ “โดนัลด์ ทรัมพ์ แห่งอาบูดาบี” รู้ว่านี่เป็นเรื่องที่เขาต้องทำ เขาต้องไป และทันทีที่เวลาได้เลยกำหนดเที่ยวบินไปแล้ว การตัดสินใจก็ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน

            “ผมรู้ได้ทันทีว่ามันจะเกิดการตกลงกันหรือไม่ และผมก็รู้ทันทีว่าเราจะซื้อแมนเชสเตอร์ ซิตี้แน่ มันมีคำถามแค่ว่าจะใช้เงินเท่าไหร่และการเจรจาจะทำได้เร็วสุดแค่ไหน” ดร.สุไลมานเผย

            ก่อนหน้านั้น 3 สัปดาห์ ในวันที่ 8 ส.ค. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และอดีตนายกฯรักฐมนตรีไทยได้เดินทางด้วยสายการบินบริติชแอร์เวย์ส ไปปักกิ่งเพื่อร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก ก่อนที่จะตัดสินใจหนีคดีคอร์รัปชั่นไม่เดินทางกลับไทย เพื่อไปพักอาศัยในลอนดอนแทน

            ในเวลานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถูกสั่งอายัดทรัพย์สินกว่า 7 หมื่นล้านบาทซึ่งทำให้ประสบปัญหาในเรื่องสภาพคล่องในการบริหารสโมสร และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจขายสโมสร

            ดร.สุไลมาน รู้ได้ในทันทีว่าการเจรจาจะต้องเกิดขึ้นแน่และได้ทำการติดต่อกับ พ.ต.ท.ทักษิณในอีก 3 วันให้หลัง การเจรจาจึงได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ และในเวลาตี 1 ของวันพุธที่ 13 ส.ค. ดร.สุไลมาน ก็ได้ทิ้งเที่ยวบินไปนิวยอร์ค เพื่อไปพบกับที่ปรึกษาของพ.ต.ท.ทักษิณที่ดูไบ

            แรกเริ่มเดิมที อดีตนายกฯ ต้องการกู้ยืมเงินซึ่งจะแปรเปลี่ยนเป็นหุ้นในภายหลัง แต่ทางดร.สุไลมานได้ยื่นคำขาดว่ามีสองทางเลือกเท่านั้นคือการเทคโอเวอร์หรือไม่ก็ล้มการเจรจาไปเลย

            จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณได้เชิญนักธุรกิจชาวอาบูดาบี เข้าร่วมชมเกมนัดเปิดสนามของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในวันที่ 24 ส.ค. แต่ดร.สุไลมาน ปฏิเสธ เนื่องจากต้องการปิดข่าวให้เงียบ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะพบและเจรจากันอีกครั้งในโรงแรมเอมิเรตส์ พาเลซ ในกรุงอาบูดาบี ในวันจันทร์ที่ 1 ก.ย.

            “ในขณะนั้นทุกฝ่ายพร้อมที่จะทำการเจรจาแล้ว แต่เรายังมีมุมมองที่แตกต่างกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งในที่สุดมันก็เกิดขึ้นจนได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาถึงกว่า 13 ชั่วโมง”

            “พวกเขาได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการและเราก็ได้ในสิ่งที่เราต้องการ”

            “บางครั้งเราก็สามารถทำข้อตกลงที่ ติ๊กถูกได้ทุกข้อ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาธุรกิจที่ดี ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ความน่าตื่นเต้น และมันก็เป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้อาบูดาบีได้เป็นที่รู้จักในโลก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตอบทุกข้อได้ในเรื่องนี้อย่างแท้จริง” ดร.สุไลมานกล่าวหลังการเจรจาประสบความสำเร็จด้วยดี

Views: 1205

Reply to This

Replies to This Discussion

ตามีน ห้ามลบเชียวนะ นานๆจะมีกระทู้เข้าทางลุงซะที เฮิ้กๆๆๆๆๆๆ

หมายความแบบว่า ที่กลุ่มกองทุนจาก อาบูดาบี่ ตัดสินใจมาซื้อ city ก็เพราะเพื่อประชาสัมพันธ์ รัฐ ของตนเองให้โด่งดังเป็นที่ยอมรับของสังคมโลกให้ติดหูติดตาเท่ากับ รัฐดูไบ เพราะ อาบูดาบี่ ไม่ได้มีดีแค่เป็นแหล่งขุดน้ำมันอย่างเดียวนะชาวโลก อาบูดาบี่ ยังมีดีที่การลงทุนอื่นๆ อีกมากมายโดยมิได้เน้นสิ่งก่อสร้างใหญ่โตเหมือน รัฐดูไบ แต่อย่างใด ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมมาซื้อทีมระดับกลางๆอย่าง city ลุงว่า BIG4 ก็แพงเกินไป กับดูไม่เหมือนการลงทุนเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เป็นไปตามสไตล์ของ อาบูดาบี ที่อยากนำเสนอ รู้สึกว่าบทความขนาดยาวพอสมควรพอจะมีแต่เนื้อๆได้แค่เนี๋ย

ส่วนเรื่องใครอ่านแล้ว จะอิจฉา รึจะชอบ ก็เรื่องความเห็นของแต่ละคนครับ แบบว่า ถ้าห้ามฉันคิดก็ต้องห้ามลมหายใจของฉัน(น้านเล่นคำคมของ บก.ลายจุดเลยเป็นไง) ส่วนคนแปลกๆแบบลุงที่ไม่เคยมี BIG4 รึทีมใดๆ อยู่ในหัวใจ เพราะที่อยู่ที่เรียนที่ทำงานไม่ได้อยู่ใกล้ทีมไหนเลยซักกะทีม ก็สารภาพตามตรงว่ามาเชียร์ city ก็เพราะทักกี้ ก็เลยมาตกหลุมรักเชียร์ไปเพราะยิ่งเชียร์ยิ่งมัน แถมยังได้รู้จักคนแปลกๆเหมือนกัน คนอาไร้ชอบเชียร์ทีมเล็กๆ ที่กระเสือกกระสนหนีตกชั้น กะได้แค่อยู่กลางตารางทั้งปีทั้งชาติ ส่วนตอนนี้ถือเป็นผลพลอยได้ที่ทีมเริ่มลืมตาอ้าปากได้เพราะ อาบูดาบี่ ทำไงได้คนมันรวย

ในการทำทีม city ในทางการเงินถือว่า อาบูดาบี่ ขาดทุนครับ ในทางด้านอื่น(หน้าตา ชื่อเสียง ฯลฯ)คงเห็นแล้วว่ามีกำไร จึงเป็นที่มาของการทุ่มทุนสร้างทีมแบบมหาศาล ให้ลองนึกดูว่าถ้ามีเศษฐีจากเมืองไทยไปซื้อทีมใน EPL รึ ลาลีกาสเปน ได้ลงแข่งทุกสัปดาห์ งบประชาสัมพันธ์ การลงทุน การท่องเที่ยว ประเทศไทยคงแทบจะไม่ได้ใช้(อุ้ยตายก็อดไปช๊อปปิ้งเมืองนอกโดยใช้ตังค์หลวงกันซิจ๊ะ)

ขอบคุณสำหรับบทความครับ
แต่เรายังเห็นคนตายที่ราชประสงค์อยู่เหมือนเดิมครับ(มันเกี่ยวกันตรงไหนเนี๋ยลุง)

55 ค้าบท่านลุงเล็ก ไม่ลบค้าบ อิๆๆๆ
แต่ผมว่ามันแปลกๆ อยู่นะ บทความนี๊
เหมือนจะพยายาม ลดกระแสนิยมในตัวอดีตท่านนายก
อ่านดีๆ สิ เหมือนว่าการขายครั้งนี๊ บทความ เหมือนจะบอกว่า ที่มันเกิดขึ้น เพราะ ท่านอดีตนายกเดือดร้อน แล้วเลยไปเข้าทาง อาบูดาบี

บทความนี๊เอ่ย ยกย่อง อาบูดาบีว่าฉลาดล้ำ แต่ลดความนิยม ท่านทักษิน รู้ทังรู้ว่า แฟนแมนซิ กว่าครึ่งนึง มาเชียร์ เพราะ ท่านทักษิน แท้ๆ
เป็นบทความที่ แฟนเรือใบรุ่นใหม่ อย่างผม ไม่ต้องการที่จะอ่านเลย

แต่แฟนรุ่นเก่า อาจจะไม่รู้สึกอ่ะไรก็ได้ เพราะ เชียร์มานานแล้ว

ตั้งกระทู้แบบนี๊เพื่อ อ่ะไร วะ
ไม่ได้มีจุดประสงค์แอบแฝงอะไรนะครับ ผมเห็นว่าเป็นกระทู้ที่ดีเลยเอามาโพสให้เพื่อนๆได้อ่านกัน

หากว่าบทความนี้บกพร่องอย่างไรผมก็ต้องขออภัยด้วย

และอีกอย่าง ผมก็ยอมรับเหมือนกันว่าเริ่มเชียร์ซิตี้ เพราะชอบท่ายทักกี้

เข้าบอร์ดทุกวัน เข้าบ่อยมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่ล็อกอิน
อ่านดีดีค้าบเพื่อน ท่านทักกี้ ไม่อยากขายแค่จะประมานยืมเงินรึชวนมาร่วมทุน

แต่ด้วยเหตุที่ถุกภาวะแวดล้อมบีบบังคับจากการถุกยึดทรัพย์การเงินขาดสภาพคล่อง จึงขาย

แสดงให้เห็นว่า ใจหนะท่านรักทีมนี้ไม่อยากขายแต่จำใจต้องขาย และทุกวันนี้ท่านก้อยังติดตามอยุ่

ส่วนข่าวส่วนตัวท่านเราก้อรุ้กันอยุ่แล้ว และตอนนี้เราเชียร์ทีมอยุ่ไม่ใช่หรอ อย่ามาขัดกันด้วยเหตุผล

ที่บทความซึ่ง บางทีต้องเปิดกว้างบ้างเลยครับเพื่อนเอ๋ย อิอิ ใจเยนๆ
ด้วยสายตาที่ฉลาดแหลมคม มีอัจฉริยะ มองกาลไกล ของทักษิณ จึงเลือกซื้อแมนซิ มาเจียรไนให้เป็นเพชรสุกสว่าง แต่อุปสรรคขวางกั้น จึงผ่องถ่ายให้เศรษฐีอาหรับรับไม้ต่อ หากทักษิณไม่เจอพายุแห่งความอิจฉาริษยาจนต้องถูกโค่นล้มแล้ว แมนซิจะเป็นเรือธงนำประเทศไทยสู่โลกกว้าง
สงสารประเทศไทยที่มีแต่คนที่ไม่มีvision แม้คนตายที่ราชประสงค์ ยัง(แสร้ง)มองไม่เห็น

ประเทศไทยพลาดโอกาศไปอีกครั้งหนึ่ง(ในหลายๆครั้ง จนเหลือจะจดจำ)แล้ว

ขอบคุณที่เอาบทความนี้มาให้รับรู้
ฟุตบอล สัมยนี้มันเป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์ ครับ ซึ่งัมนก็ต้องควบคู่กับธุรกิจไปด้วย

ฉะนั้น ทุกย่างก้าวคือการลงทุนทั้งหมด และการลงทุน ทุกครั้ง เค้าย่อมหวังสิ่งตอบแทนเป็นธรรมดา

RSS

© 2024   Created by thaiMCFC.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service

Text Link Ads script error: local_200939.xml is not writable. Please set write permissions on local_200939.xml.