Members

เรือใบ - ไก่ - และอะไรต่อมิอะไรบ้าง ( บทความยาวมากครับ )

ยามดึกคืนวาน(วันอังคาร)ที่ผ่านมา ผมได้รับข้อความทางหน้า Hi5 จาก นายกานต์ สหายเก่าสมัยเรียนมหาลัยฯ จับใจความสั้นๆได้ว่า มีความตั้งใจส่งมาเพื่อถามไถ่ถึงสารทุกข์สุขดิบ พ่วงท้ายด้วยถ้อยคำเชิญชวนที่เย้ายวนให้ผม ออกอาการหูกระดิก( ดิ๊กๆๆๆ) “ไปแดร๊กเหล้ากัน(มั้ยจ๊ะ)” กานต์ทิ้งทวนไว้อย่างนั้น แหม...มันช่างบีบหัวใจผมเสียเหลือเกินครับ( ไม่อยากไปเล้ยจริงๆ 555+)

ไหนๆก็เริ่มต้นประโยคด้วยการพาดพิงถึง นายกานต์ แล้ว จึงอยากหยิบยกเรื่องราวของ เพื่อนเก่าคนดังกล่าว มาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้เสียหน่อย เนื่องจาก รู้สึกประทับใจ แนวทางการทำงานของหมอนี่ ที่เข้ากับผมได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ย แม้ว่าเราทั้งคู่จะไม่ใช่เด็กเรียนเก่งอะไรหนักหนา แต่หลายครั้งที่มีโอกาสทำงานร่วมกัน กลับสร้างสรรค์ ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชวนให้คนรอบข้างประหลาดใจอยู่ร่ำไป...

กานต์ และผม อาจไม่ได้สนิทชิดเชื้อจนถึงขั้น “เพื่อนเจ็บชั้นก็เจ็บเหมือนกัน” แต่ก็ใช่ว่าหาก “เพื่อนเจ็บแต่ชั้นไม่เจ็บ(งั้น)ช่างหัวมัน” ซะเมื่อไหร่ คือไม่ได้ละเลยอะไรขนาดนั้น แต่ความสัมพันธ์จะออกมาในลักษณะเพื่อนร่วมงานเสียมากกว่า ซึ่งเราทั้งคู่มักเลือกที่จะอยู่กลุ่มเดียวกันเป็นประจำ ด้วยเหตุผลที่( ผมเข้าใจเอาเอง)ว่า “เราทำงานร่วมกันได้ดี” ถ้าหากเปรียบเทียบในเชิงฟุตบอลก็คงคล้ายๆ การเข้าคู่กันของ เจอราร์ด – ตอเรส (ว่าไปนั่นเลย) ละครับ

เมื่อได้รับมอบหมายให้ร่วมมือกันในฐานะทีม การสื่อสารของสมาชิกในกลุ่มถือเป็นเรื่องสำคัญ บทบาทของแต่ละคนต้องชัดเจน สุดท้ายแล้วต้องมั่นใจว่าผลลัพธ์ที่ได้จะดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน หรือที่เราเรียกว่า “มีทีมเวิร์คที่ดี” นั่นปะไร

ทั้งผมและกานต์ ต่างรู้ถึงศักยภาพ ความถนัดของกันและกันดี ซึ่งเมื่อการกระจายงานลุล่วง ก็สามารถพุ่งสมาธิไปยังส่วนที่ตนรับผิดชอบได้โดยไม่ต้อง "ห่วงหน้าพะวงหลัง" ว่าเพื่อนกานต์ จะสามารถรับภาระหน้าที่ในส่วนนั้นได้ไหม??? ( แม้มารู้ภายหลังว่า เพื่อนกานต์ เหนื่อยแทบลมใส่ แถมยังสบถในใจว่า “ชิท” อยู่เป็นระยะ ตามประสาเด็กคณะอินเตอร์ 555+)

ซึ่งผมสารภาพจากใจจริงว่ารู้สึก ดีใจ และ ภูมิใจมาก ที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับ เพื่อนคนนี้ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวของมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าร่วมในโครงการที่มีธนาคาร HSBC เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ บนเวทีระดับประเทศ ภายใต้ชื่อว่า HSBC Young Entrepreneurship ฉีกหน้าทีมเต็งที่รวบรวมเหล่าบรรดา “หัวกะทิ” ของระดับ ที่ครั้งหนึ่งเคย ดูแคลน กลุ่มของเราเอาไว้ว่าเป็น หมา เอ้ยยย ม้านอกสายตา...

แม้ชั่วครู่แรก ผมจะรู้สึกแปลกใจไม่น้อยกับผลงานโดยรวมของทีม ที่ทำได้ดีเกินคาด ซึ่งบอกตามตรงว่าหากเทียบระดับคุณภาพของบุคลากรกันตามหน้าเสื่อแล้ว ใครต่อใครต่างลงความเห็นเป็นเอกฉันฑ์ว่า “ทีมรวมดารา” นั้น พลาดยาก( เต็งจ๋า ว่างั้น) แต่เมื่อมีโอกาสได้ยลโฉมการนำเสนอเนื้องานของพวกเค้าให้ชัดๆเต็ม 2 ตา จึงทำให้ผมพอสังเกตุเห็นได้ว่า มีข้อบกพร่องบางอย่างเกิดขึ้น...

“ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” จะบอกว่าอย่างนั้นคงไม่ผิดนัก

คือเมื่อมาลองนั่งฟังให้ได้ยินกับหูแล้ว กลับมีความรู้สึกดั่งว่ากำลังรับชม การนำเสนองานในรูปแบบ “เดี่ยวไมโครโฟน” เสียมากกว่า หรือพูดง่ายๆคือ "ต่างคนต่างพูด" นั่นละครับ ซึ่งหากเงื่อนไขในการ พรีเซ็นท์งาน เป็นไปอย่างที่ว่า( ฉายเดี่ยว) บรรดาสมาชิกในกลุ่มนั้นๆ คงชนะใสแบบไร้กังวล...หากแต่มันไม่ใช่...อีกทั้งเมื่อนำชิ้นงานของแต่ละคนมา ปะติดปะต่อกัน ผลลัพธ์ที่ได้กลับน่าผิดหวัง ไม่อลังการงานสร้างอย่างที่ควรจะเป็น...

“เหมือนการเลือกทานอาหารจานหลักเสียก่อน โดยมองข้ามซุปร้อนๆที่จัดเตรียมไว้เพื่อเรียกน้ำย่อย” ยังไงยังงั้น... ( คือ ต่างคนต่างทำส่วนของตนให้เด่น โดยไม่ได้มุ่งเน้นที่จะเกื้อกูลผลงานซึ่งกันและกัน ไม่มีใครยอมลดบทบาทการนำเสนอของตนเอง อะไรประมาณนั้นครับ)

คาดว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ "ทีมเต็ง" ล้มเหลวไม่เป็นท่า เนื่องมาจาก ขาดการจัดการที่ดีภายในกลุ่ม ไร้ซึ่งผู้นำที่จะคอยกำหนดทิศทางของงาน “ปราศจากทีมเวิร์คที่ดี” ท้ายที่สุดแล้ว ความเก่งกาจรายบุคคลเพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจบัลดาลความสำเร็จได้ ผลจึงออกมาอย่างที่รู้ๆกัน... ( เจ๊งบ้ง)

หากจะเปรียบเทียบเหตุการณ์ในครั้งนั้นกับ “ฟุตบอล” ท่านผู้อ่านอาจพึงพินิจพิจารณาเห็นถึง จุดเชื่อมโยงบางอย่าง ที่ทำให้ทั้ง 2 เรื่องนี้ กลายเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ไปโดยปริยาย...(ซะอย่างนั้น)

ผมกำลังจะบอกว่า ในโลกของฟุตบอล มีอยู่มากมายหลายทีมที่อุดมไปด้วยนักเตะฝีเท้าดี แต่ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในทุกๆปีที่ลงชิงชัยซะเมื่อไหร่

นักเตะชื่อดังที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อค้าแข้งในลีกต่างแดน ใช่ว่าจะทำผลงานกระฉูด ให้ต้นสังกัดใหม่ได้ทุกรายไป หลายต่อหลายคนต้องอาศัยเวลาปรับตัวนานแรมปี บางรายอาภัพถึงขั้นล้มเหลวไม่เป็นท่าเลยก็มี

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น???

หากมองในแง่ ปัญหาส่วนตัวของนักเตะเองแล้ว อาจได้ข้อสรุปในลักษณะที่ว่า นักเตะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสไตล์การเล่นที่แตกต่างของลีกนั้นๆได้, ขาดความเข้าอกเข้าใจกับเพื่อนร่วมทีม, มีปัญหานอกสนาม( สภาวะการดำเนินชีวิต, ภาษา, อาหารการกิน ฯลฯ) สาระพัดสาระเพ ก็แล้วแต่จะว่ากันไปครับ( ว่าด้วยปัจจัยหลักๆเพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้ฟอร์มการเล่นของดาวเตะผู้นั้น "ตกฮวบฮาบ" ยิ่งกว่าดวงชะตาของใครบางคนเสียอีก)

แต่จะว่าไปแล้วยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวของนักเตะไม่น้อยทีเดียว ทั้งยังเป็นปัจจัยที่ตัวนักเตะเองไม่สามารถควบคุมได้อีกด้วย โดยปัจจัยที่ว่านี้คือ...คือ...คือ...

ตัว “ผู้จัดการทีม” นั่นแหละครับ

ผู้จัดการทีมบางคนสามารถ ปลุก...ปล้ำ เอ้ยยย...ปั้น นักเตะโนเนม ฝีเท้าดาดๆ ให้กลายเป็นดาวดังชื่อก้องโลกได้ในเวลาไม่นาน ในทางกลับกัน กุนซือ บางสถาบัน ก็สามารถฉุดกระชากลากถู ดาวที่เปล่งประกายระยิบระยับบนฟากฟ้า ให้ร่วงผลอยลงมา กลายสภาพเป็นสินค้า แบกะดิน ไร้ซึ่งศักดินาไปเลยก็มี( นะจ๊ะ)

นอกเหนือจากการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้กับนักเตะแล้ว ผู้จัดการทีมยังมีอิทธิพลอย่างยิ่งยวด ต่อการนำทัศนคติ(ที่ดี)มาสู่ทีม เช่นเดียวกับการงัดจิตวิทยาออกมา กระตุ้น ปลุกเร้าลูกทีมให้ พัฒนา หรือรักษามาตรฐานการเล่นในระดับที่น่าพึงพอใจต่อไป

ในกรณีนี้หากตัว กุนซือ เองทำได้ไม่ดีพอ อาจส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของนักเตะได้ง่ายๆเลยนะครับ ยิ่งถ้าหากนักเตะผู้นั้นมีฝีเท้าในระดับตีตรา เวิร์ลคลาส ไว้ด้วยแล้ว ความศรัทธาในตัว เจ้านาย อาจแปรเปลี่ยน กลับกลายเป็นความฉงนในฝีไม้ลายมือแทน นำมาซึ่งแรงคัดค้าน ต้านระบบ ส่งผลกระทบต่อฟอร์มการเล่นในระยะยาว เมื่อปัญหาลุกลามใหญ่โตถึงขั้นนั้น เราอาจได้เห็นบอร์ดบริหารเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจอะไรบางอย่าง ( เช่น ปลดระวางผู้จัดการทีมกลางคันมันซะอย่างนั้น!!! เพราะเชื่อมั่นว่ามือไม่ถึง และไม่มีบารมีเพียงพอ ต่อการควบคุมความประพฤติของนักเตะระดับ สตาร์)

กรณีศึกษาที่เพิ่งเกิดขึ้นให้เห็นเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้กับทีมที่ทำท่าว่าจะดีอย่าง ท๊อตแนม ฮ๊อตสเปอร์ส แคนดิเดต ในการลุ้นแย่งอันดับ 4 ของ แมนฯ ซิตี้ ที่กำลังดิ้นรนหนีตกชั้น ( เง้อออ)

ภายหลังการแต่งตั้ง “จ่าแฮรี่” แฮรี่ เร้ดแนป แทนที่การจากไปของ ฆวนเด้ รามอส ยอดกุนซือสแปนิช ทีมไก่เดือยทอง ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ สมราคาทีมใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกยกให้เป็น “ตัวเต็ง” ที่มีสิทธิสอดแทรกขึ้นไปเบียดแย่งพื้นที่ แชมเปียนส์ ลีก กับบรรดาทีมระดับ บิ๊ก ทั้งหลายแหล่...

ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีของอดีตกุนซือ พอร์ตสมัธ นะครับ เริ่มต้นได้ไฉไลถูกใจแฟนๆแบบนี้ ซึ่งก็น่าแปลกใจว่าทำไมกุนซือฝีมือดีคนก่อน อย่าง ฆวนเด้ รามอส กลับไร้บารมีที่จะนำทัพไก่เดินหน้าคว้าชัยชนะ เหมือนอย่างที่ แฮรี่ เร้ดแนป ทำได้...

เพราะเหตุใด นายใหญ่ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับยุโรปอย่าง รามอส กลับเอาชื่อมาทิ้งที่เล้าไก่ ณ ไวท์ฮาร์ทเลน แห่งนี้เสียง่ายๆ???

คำกล่าวอ้างที่ว่า อดีตกุนซือ เซบีย่า ไม่มีสิทธิมีเสียงเท่าที่ควรในการเลือกซื้อนักเตะ ตามแบบฉบับที่เจ้าตัวต้องการ บอกเป็นนัยว่า เค้าถูกแทรกแซงการทำงานจากใครบางคน และจะเป็นใครไปไม่ได้เลย นอกจาก เดเมี่ยน โคมอลลี่ ( อย่างนี้เค้าไม่เรียกว่า บอกเป็นนัย แล้วละครับพี่!!!) ไดเร็คเตอร์ ออฟ ฟุตบอล แห่ง คลับไก่ นั่นเอง...นักเตะอย่าง ลูก้า โมดริช, เดวิด เบนทลี่ย์ หรือแม้กระทั่ง โรมัน พาฟลิวเชนโก้ ต่างเป็นผลงานการซื้อขายของ นายโคมอลลี่ ผู้นี้ โดยทั้งสิ้นครับ...

ถามว่าพ่อค้าแข้งแต่ละคนที่ โคมอลลี่ เลือกสรรมา มีคุณภาพขนาดไหน???...ตอบแทนได้เลยครับว่า “ไม่เบา” แต่ละคนฝีเท้าดี เทคนิคการเอาตัวรอดหายห่วง เพียงแต่ว่าบรรดา น้องใหม่ไก่บริสุทธิ เหล่านี้ หาใช่ “วัตถุดิบ” ตามใบสั่ง ของ ฆวนเด้ รามอส ที่จะนำมาผสมผสานคลุกเคล้า เหยาะเหล้าปรุงรสนิดหน่อย ชนิดแม่ช้อยยังอาย กลายเป็นเมนูเลิศรส อย่างที่กุนซือพูดน้อยรายนี้ต้องการซะที่ไหน...( มันไม่ใช่อะเติ้ล!!! 555+)

สมมตินะครับสมมติ...สมมติว่า รามอส มีความตั้งใจ อยากปรุงอาหารไทยเช่น ต้มยำ “แป๊ะซะ” ( แป๊ะซะ นะครับ ไม่ใช่ แป๊ะลิ้ม)

หากวัตถุดิบที่นักปรุงอาหารชั้นดีอย่าง รามอส มอบหมายให้ โคมอลลี่ จับจ่ายในการทำ แป๊ะซะ คือ ปลาช่อนตัวโต๊โต...สิ่งที่นาย โคมอลลี่ พึงกระทำ จะเป็นการซื้อ กุ้งกุลาดำ มาแทน โดยไม่มีแผนจะซื้อปลาช่อนด้วยซ้ำ ( คือนอกจากจะเป็นการซื้อข้ามสายพันธุ์ ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดในการทำแป๊ะซะแล้ว ราคายังแพงกว่ากันอีกต่างหาก) หรือจะเป็นการ สั่งน้ำบ๊วย ได้ น้ำลำใย สั่งตะใคร้ ได้ใบชาเขียว( เอ๊ะ!!!แล้วจะได้เรื่องมั้ย 555+)

ด้วยการช๊อปชนิด “ขัดใจคนใช้งาน” ในลักษณะดังกล่าวของ โคมอลลี่ นี่แหละครับ ที่ทำให้เจ้าตัวถูก นายหัวไก่ อย่าง แดเนี่ยล เลวี่ ปลดระวางกลางอากาศ ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาในทิศทางนี้ ผู้จัดการทีมอย่าง รามอส เอง น่าจะเป็นคนที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด โดยมีข้อแม้ว่า กุนซือมาดนิ่งต้องเร่งทำผลงานของทีมให้กระเตื้องขึ้นกว่าเมื่อครั้งที่ยังทำงานอยู่ภายใต้ร่มเงาของบุคคลที่ชื่อ...นายแป๊ะซะ เอ้ยยย เดเมี่ยน โคมอลลี่...

แต่จนแล้วจนรอด "คลับไก่" ภายใต้การนำทีมของ รามอส ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า มีฟอร์มการเล่นที่พัฒนาขึ้นกว่าครั้งที่แล้วๆมาแต่อย่างใด สุดท้าย คนที่จำต้องไป ก็หนีไม่พ้น นายใหญ่ ชาวสเปนผู้นี้อยู่ดีนั่นละครับ ในเมื่อลูกทีม พากัน “ยี้” แนวทางของเทรนเนอร์ ผู้ให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนสับเปลี่ยนผู้เล่นเป็นหลัก เพียงเท่านี้ก็สามารถฟันธงได้แล้วว่า นักเตะไก่ หมดความมั่นใจในตัว ฆวนเด้ รามอส ไปเรียบร้อยแล้ว

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไม ท๊อตแนม ฮ๊อตสเปอร์ส ในยุคของ "กุนซือหน้าตาย" ถึงทำผลงานได้ไม่เป็นสับประรด ทั้งๆที่มีผู้เล่นฝีเท้าดีให้เลือกใช้งานมากมาย การวางแทคติกแก้เกม ของผู้จัดการทีม ก็มีคลาสใช้ได้ ไม่ขี้เหร่ เพียงแต่ รามอส “ก้าวพลาด” ดื้อแพ่งกับการนำทัศนคติที่ไม่เป็นที่ยอมรับมาปลูกฝังให้กับลูกทีม ฟอร์มการเล่นของนักเตะเก่งๆแต่ละคนจึงพากัน ดำดิ่งลงเหว อย่างที่มิได้นัดหมายกันไว้ล่วงหน้า ( โถ เอน็จ)

ผิดกับผลงานในปัจจุบันที่มี “จ่า แฮรี่” คอยบงการเกม นักเตะฝีเท้าดีเหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และ ความมุ่งมั่น ว่า พวกเขาสามารถ หลอมรวมเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นทีมที่ดีได้( นี่หว่า) โดยเฉพาะ เดวิด เบนท์ลีย์ กับ โรมัน พาฟลิวเชนโก้ ที่ เทรนเนอร์มากประสบการณ์ ออกมาแสดงทัศนะในแง่ลบว่า “มิใช่การเซ็นสัญญาที่คุ้มค่าของสโมสรเลยสักนิด” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ดาวเตะทั้ง 2 คน กลับได้โอกาสลงสนามในฐานะตัวจริง อย่างสม่ำเสมอ ทุกๆนัด ภายใต้ระบบการเล่นของ กุนซือ ตาปรือ รายนี้ ( เง้อออ)

ซึ่งหากพิจารณาให้ถ้วนถี่แล้ว จะทราบว่า สิ่งที่ผู้จัดการทีม แฮรี่ เปิดปากให้สัมภาษณ์กับสื่อ แท้จริงแล้วคือการนำ “ลูกจิตวิทยา” ออกมาใช้ เหมือนเป็นการบอกใบ้ให้ทั้ง 2 หน่อ เร่งพิสูจน์คุณค่าที่มีต่อสโมสรให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจ ( อยากค่าตัวแพงกันทำไมล่า 555+ )

ซึ่งผลที่ได้คือ ทั้งคู่โชว์ฟอร์มได้น่าดู และ ยิงประตูได้ทั้งสองนัดหลังสุด ในเกมส์ที่บุกเสมอ อริตลอดกาลอย่าง อาเซน่อล (4 – 4) และ เปิดบ้าน เชือด พญาหงส์แดง (2 – 1) อย่างที่ทราบกัน

สิ่งเหล่านี้คือบทบาทของ เจ้านาย ที่ถ่ายทอดไปสู่ ลูกน้อง แสดงให้เห็นว่า ผู้จัดการทีมมีอิทธิพล ต่อการปรับตัวของผู้เล่นเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีของนักเตะที่มีพรสวรรค์ ชั้นบอลเข้าที เป็นทุนเดิม หากได้รับคำชี้นำให้พัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับทีมแล้ว การตามล่าไขว่ขว้าความสำเร็จ ก็ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป

ที่หยิบยกเรื่องวุ่นๆใน “เล้าไก่” มาพูดคุยกันในวาระนี้ มิใช่ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่า ทีม เรือใบสีฟ้า มีคิวลงดวลแข้งกับยอดทีมจาก นอร์ธลอนดอน สุดสัปดาห์นี้ เท่านั้น หากแต่เป็น ความคล้ายคลึงกัน ของปัจจัยภายใน หลายต่อหลายอย่าง ที่ทำให้ทั้ง 2 ทีมไม่สามารถโชว์ฟอร์มเก่งได้ในระดับที่แฟนๆคาดหวังไว้...

ที่เห็นได้ชัดคือทั้ง 2 สโมสร มีนักเตะระดับพรสวรรค์อยู่ภายในทีมไม่น้อย แต่ทิศทางการเล่นกลับไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร...แม้เริ่มต้นประโยคในลักษณะนี้ แต่ผมไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวโทษ หรือ เพ่งเล็งไปที่ความพิดพลาดของใครคนใดคนหนึ่ง ในเมื่อบุคคลเหล่านั้นเป็นทรัพยากรส่วนหนึ่งของทีม สิ่งที่ต้องยอมรับ คือการรับผิดชอบร่วมกันในฐานะทีม ซึ่งดูจะป็นอะไรที่เหมาะสมกว่า

แต่หากจะกล่าวพาดพิงถึงใครสักคน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฟอร์มการเล่นของทีมโดยตรงแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นตัว กุนซือ นั่นละครับ

มาร์ค ฮิวจ์ อาจเป็นคนที่แบกรับความกดดันเอาไว้ มาก ถึง มากที่สุด อย่างไม่ต้องสงสัย ในฐานะหัวเรือใหญ่ ผู้คอยกำหนดทิศทางความเป็นไปในการเล่นของทีมโดยรวม เพราะฉะนั้นในมุมมองของแฟนบอลและผู้บริหารระดับสูง คนที่มีส่วนในการรับผิดชอบมากที่สุด “ควรต้องเป็น” ผู้จัดการทีม...แต่หากจะนำสถานการณ์ของ ฮิวจ์ ไปเปรียบเทียบกับกรณีของ รามอส คงไม่ใช่เรื่อง ที่ถูกที่ควร สักเท่าไหร่ มันออกจะดูเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า ฮิวจ์ “ไม่ใช่คนที่เหมาะสมกับงาน”

ในฤดูกาล 2008/09 นี้ ยังมีแมตช์การแข่งขันอีกมากมาย ที่เฝ้ารอให้ มร. ฮิวจ์ สำแดงฝีมือ ตลอดจนถึงช่วงปลายเดือน พฤษภาฯ ศกหน้านู่น เมื่อถึงเวลานั้น ค่อยมาพิพากษาอนาคตของผู้จัดการทีมคนนี้จะดีกว่าไหม??? อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหากพัฒนาการของทีมดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น โอกาสที่แฟนบอลและบอร์ดบริหารจะแสดงท่าทีหนุนหลัง มาร์ค ฮิวจ์ ต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อย...

แต่ในทางกลับกัน หาก “สปากี้” จนปัญญาที่จะจัดการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องในแนวรับ อีกทั้งยังไม่สามารถดึงศักยภาพของนักเตะชั้นดีภายในทีมให้เล่นร่วมกันตามแนวทางที่ตนวางเอาไว้ได้

คำสบประมาทที่ว่า...

“แมนฯ ซิตี้ แค่มีนักเตะฝีเท้าดีให้ใช้ แต่หาใช่ ทีมที่ดี มีระดับ ซะเมื่อไหร่”

...จะยังคอยเสียดแทงความรู้สึกของ แฟนๆเรือใบ ต่อไป ตราบใดที่ ทีมยังคงไร้ความสม่ำเสมอ ขาดคุณสมบัติของการเป็นทีมที่ดีเช่นนี้...

เดเนี่ยล เลวี่ ประธานสโมสร ท๊อตแนม ฮอตสเปอร์ส ใช้เวลาครุ่นคิดอยู่นานสองนาน ก่อนตัดสินใจ "กรีดเลือดตัวเอง" โดยการ ควักเน้นๆกว่า 18 ล้านปอนด์ เป็นค่าฉีกสัญญา ในกรณีตะเพิด ฆวนเด้ รามอส หลังกุนซือสแปนิช ทำทีมตกต่ำดำดิ่ง ชวนให้บรรดาสาวกแน่นิ่งไปตามๆกัน...

หากแต่ในกรณีของ สโมสรดังจากฝั่ง "อีสแลนด์" ที่มีกลุ่มทุนจาก อบูดาบี เป็นทีมบริหารแล้วนั้น เรื่องเงินเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ จะเซ็นเช็คปลดใคร ก็ไม่น่าต้องขบคิดอะไรให้มากเรื่อง

อนาคตของกุนซือที่ชื่อ มาร์ค ฮิวจ์ จึงฝากฝังไว้กับความเชื่อมั่นล้วนๆ ของท่านประธานสโมสร จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรนั่น สิ้นสุดฤดูกาลนี้ อาจมีบทสรุปให้ได้ทราบกันก็เป็นได้...

ซึ่งก็หวังอย่าให้เป็นข่าวร้ายสำหรับใครบางคนเลยครับ...


River.

Views: 167

Reply to This

Replies to This Discussion

เช้านี้ได้อ่านบทวิเคราะห์ที่ค่อนข้างยาวเป็นพิเศษ ถ้าเป็นอาหารก็จานใหญ่ทานจนอิ่มแปร้
แต่ถึงอย่างไรรสชาติก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ได้เนื้อหาสาระเพราะพ่อครัวมีฝีมือและเตรียมเครื่องปรุงมาดี
ข้อแนะนำในการอ่าน
ให้อ่านตามสไตล์ที่ตัวเองถนัดจนถึงบรรทัด
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น???
ให้หยุดทบทวนวิธีอ่าน เลือกวิธีอ่านที่โดนใจที่สุด
แบบหยุดพักครึ่งระหว่างเกมส์ยังไงยังงั้น แล้วลุยอ่านรวดเดียวจนจบ
รับรองว่าเหนื่อย แต่ก็ได้อารมย์ ภาชนะที่ใช้สำหรับนึ่งดี......แจ๋มมากขอบอก
ขยันพิมเนอะ ขอบคุณมากครับสำหรับบทความดีๆ
อ่านซะเมื่อเลยน้องเอ้ย
แต่สรุปแล้วก็ดีมากครับ
ที่ได้อ่าน...
...เข้ามาอ่านแล้วครับ.....
กระทู้ยาวเฟื้อยยย..........อ่านแล้วต้องมีพักครึ่งแรก
ยาวโคตรเลย ไอเติ้ลเอ้ย........
(@ _ @)
งง อ่ะ ไอ้เติ้ลเอ๊ย.................
ก็แกอ่านไม่จบนี่ ^^'
ยอดฝีมือนักเขียนโดยแท้

ลีลา วาทะ อารมณ์ และเรียบเรียง

RSS

© 2024   Created by thaiMCFC.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service

Text Link Ads script error: local_200939.xml is not writable. Please set write permissions on local_200939.xml.