Members


     ย้อนกลับไปวันเปิดฤดูกาล 2001/02 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ไลน์อัพตัวจริงของ 20 ทีมพรีเมียร์ลีก ปรากฏเพียงแมนฯ ยูไนเต็ด ที่เล่นหมากหน้าตัวเดียวในนามของ รุด ฟาน นิสเตลรอย 

 

 

        ที่เหลืออีก 19 ทีม ออกสตาร์ตด้วยการใช้กองหน้าสองคน อาทิ ลิเวอร์พูล ส่ง ไมเคิ่ล โอเว่น กับยารี่ ลิตมาเน่น เอาชนะเวสต์แฮม 2-1 จากสองประตูของเบบี้โกล


        อาร์เซน่อล จัด เธียรี่ อองรี กับ ซิลแว็ง วิลตอร์ บุกไปถล่มมิดเดิ้ลสโบรช์ 4-0


        จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ กับ จานฟรังโก้ โซล่า คือคู่กองหน้าของเชลซี ในวันเสมอ 1-1 กับนิวคาสเซิ่ล ที่นำมาโดย โชล่า อเมโอบี้ และ เคร็ก เบลลามี่


        สเปอร์ส มีน้าเลส เฟอร์ดินานด์ กับ เซอร์เก เรบรอฟ นำหอกก่อนทำได้แค่เสมอแอสตัน วิลล่า 0-0


        ส่วนเลสเตอร์ ซิตี้ จ่าฝูงพรีเมียร์ลีกเวลานี้ เปิดหัวซีซั่นนั้นด้วยความพ่ายแพ้เละเทะคาบ้าน 0-5 ต่อโบลตัน


        กองหน้าอย่าง อเด อคินบาย กับ ดีน สเตอร์ริดจ์ ไม่ได้เศษเสี้ยวของ เจมี่ วาร์ดี้ เลยสักคน


        นั่นคือยุคที่ฟุตบอลระบบหน้าคู่ยังปัง และป็อปปูลาร์ในสายตาบรรดาโค้ช


        ก้าวข้ามมิติเวลามาถึงปัจจุบัน เกมพรีเมียร์ลีกในสัปดาห์ล่าสุดทั้ง 10 สนาม หลงเหลืออยู่ไม่กี่ทีมที่คงยึดสูตรหน้าคู่ขนานแท้และดั้งเดิมของฟุตบอลอังกฤษ


        และแค่สองทีมที่ใช้มันมาตั้งแต่ต้น

 


        หนึ่งคือ เลสเตอร์ ซิตี้ อีกหนึ่งคือ วัตฟอร์ด


        พวกขาจรที่ลองปรับมาเล่นหน้าคู่ในเกมที่ผ่านมา ได้แก่ สวอนซี และ แอสตัน วิลล่า ซึ่งต่างกำลังดิ้นรนหนีโซนตกชั้น


        แต่อย่างที่รู้กันล่ะครับว่าโดยธรรมชาติของสองทีมนี้ โปรดปรานสไตล์หอกตัวเดียวอันเดียวมาแต่ไหนแต่ไร


        เฉพาะอย่างยิ่ง สวอนซี เสพติดการครองบอลติ๊ดชึ่ง เคาะไปมาจนครั้งหนึ่งถูกมอบฉายาสวอนเซโลน่า


        ความนิยมในหมากหน้าคู่ ตกวูบลดฮวบไปจนช่วงหนึ่งเรียกว่าใกล้สูญพันธุ์เลยก็ว่าได้


        ถามว่ามันเริ่มหายไปจากฟุตบอลอังกฤษ เมื่อไหร่? เคร็ก เบลลามี่ เคยให้คำเฉลย


        "มันคือปี 2005 ตอนที่ โชเซ่ มูรินโญ่ กับ ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา เข้ามาแล้วทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด"


        ความสำเร็จของเชลซี ภายใต้ระบบ 4-3-3 ก่อให้เกิดเป็นแฟชั่นใหม่ระบาดในช่วงนั้น


        โดยมี 4-2-3-1 เป็นคู่แข่งแย่งฐานลูกค้า ขับเคี่ยวดุเดือดข้ามคืนข้ามวันยิ่งกว่าการประมูลคลื่น 4 จี ในบ้านเรา


        วันนั้น คำว่า "เปอร์เซ็นต์ครองบอล" เพิ่มบทบาทมากขึ้นในฐานะกุญแจอีกหนึ่งดอกที่ไขประตูสู่ชัยชนะ


        ผลแพ้-ชนะดูเหมือนเป็นประเด็นรอง "ทีมไหนครองบอลมากกว่ากัน" ด้วยซ้ำไป


        แต่ไม่ว่าจะ 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 มันเท่ากับหมากหน้าคู่ที่เคยฮิตระเบิดระเบ้อ ติดลมบนมายาวนานในฟุตบอลอังกฤษ
เสื่อมถอยจากความนิยมลงอย่างรวดเร็วปานสกีดาวน์ฮิล


        เกือบทุกทีมยอมเสียสละตัดกองหน้าออกไปคน แล้วอัดมิดฟิลด์ลงไปอีกหนึ่งตัว เพื่อมุ่งหวังครองบอลให้มากกว่า


        ส่วนผลกระทบที่ตามมา?


        เบลลามี่ เล่าว่าตลอด 10 ปีหลัง กองหน้าสไตล์เดียวกับเขา ไม่ต่างอะไรจากการถูกฆ่าตัดตอน


        เล็ก คล่อง มีความเร็ว ไม่ใช่คอนเซปต์ในฝันสำหรับการยืนกองหน้าเป้าตัวเดียว


        คนนั้นต้องรูปร่างใหญ่ แข็งแกร่ง แรงเบียดปะทะถึง สามารถเก็บบอลท่ามกลางกองหลังขนาดน้องๆ ยักษ์


        ยิ่งทีมใหญ่ มักสรรหาโค้ชต่างชาติมายกระดับอัพเกรดมากกว่าจ้างกุนซือโอท็อป กองหน้าตกเทรนด์อย่างเบลลามี่ จึง
มักไม่ค่อยมีที่ยืนในสังคมไฮโซ


        เพราะเมื่อโค้ชจำเป็นต้องเลือกตัดกองหน้าออกไปหนึ่งคน โชล่า อเมโอบี้ จึงถูกมองมีประโยชน์รอบด้านกว่าเบลลามี่


        แต่เสน่ห์อย่างหนึ่งของเกมฟุตบอล คือความไม่หยุดนิ่งของแท็กติก และวิถีทางที่จะนำไปสู่ชัยชนะ


        เปอร์เซ็นต์ครองบอลเคยถูกให้ความสำคัญเป็นเบอร์ต้นๆ มายาวนานหลายปี แต่ในที่สุด หลังจากเลยจุดพีกของมัน และสไตล์ tiki taka อันโด่งดังของบาร์ซ่า ก็หายเข้ากลีบเมฆไปพร้อมกับสวอนเซโลน่า


        ทุกวันนี้เรามักเห็นว่าทีมที่ครองน้อยกว่า กลายเป็นผู้ชนะอย่างไม่แยแสต่อสถิติ


        อาร์เซน่อล ได้บอลไม่ถึง 40 % ในคืนเผด็จศึกแมนฯ ซิตี้...นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ


        เช่นเดียวกับสองทีมขนาดย่อมๆ ที่กำลังบินสูงบนตารางลีกเวลานี้ อย่างเลสเตอร์กับวัตฟอร์ดตัวเลขครองบอลเฉลี่ยต่อเกมก็ต่ำเตี่ยเรี่ยพื้นอยู่ในลำดับท้ายๆ


        เลสเตอร์ เพียง 43.6 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าแค่สองทีมคือซันเดอร์แลนด์ กับเวสต์บรอมวิช


        ส่วนวัตฟอร์ด ก็มากกว่าไม่เท่าไหร่ เฉลี่ยแถวๆ 46 %


        แต่ผลลัพธ์ล่ะหรือ? จิ้งจอกชูหางเป็นจ่าฝูงในวันคริสต์มาส อย่างไม่มีใครหน้าไหนอุตริเขียนสคริปต์ได้พิเรนทร์เท่า


        และเหนือชั้นพอกันคือคุณน้องแตน ที่เพิ่งสอบเลื่อนขั้นขึ้นมาได้ปีแรก ติดปีกบินสูงถึงอันดับ 7 ด้วยแต้มห่างพื้นที่ท็อป 4 เอิ่ม เอ่อ...คะแนนเดียว


        มันเกิดอะไรขึ้นกับสองทีมนี้...สองทีมที่กล้ายัดกองหน้าคู่ลงต่อกรกับคู่แข่งที่ล้วนแต่เทคนิคแพรวพราวระดับเทพเรียกพี่


        คุณมีสิทธิ์ไม่เจอบอลด้วยหมากหน้าคู่เยี่ยงนี้ เพราะนั่นแปลว่าคุณเสียเปรียบกำลังพลบนสมรภูมิที่จะตัดสินทีมไหนจะได้บอลมากกว่ากันตรงกลางสนาม


        ใช่ ทุกคนเดาไม่ผิด หลักฐานชัดเจนอย่างที่บอกไปแล้วว่า เลสเตอร์ กับ วัตฟอร์ด มีเปอร์เซ็นต์ครองบอลเฉลี่ยอยู่หางแถวของลีก

 


        แต่ทั้ง เคลาดิโอ รานิเอรี่ และ กีเก้ ฟลอเรส คงยักไหล่ไม่สน เพราะมันไม่ได้มีผลอะไรกับการแพ้ชนะที่นับกันด้วยจำนวนประตู


        เลสเตอร์ กลายเป็นทีมที่ทำประตูเยอะที่สุด และชนะมากที่สุด 11 นัดเท่ากับอาร์เซน่อล ส่วนชัยชนะ 8 เกมของวัตฟอร์ด ยังมากกว่าทีมที่รั้งอันดับสี่อย่างสเปอร์สด้วยซ้ำ


        ใครบางคนบอกว่าวัฏจักรฟุตบอล กำลังหมุนวนกลับมาที่ "ฟุตบอลหน้าคู่" อีกครั้ง


        จากความเสื่อมถอย เหลือแค่หน้าตัวเดียว จนกระทั่งทีมชาติสเปน เคยคว้าแชมป์โดยไม่ใช้กองหน้าเลยสักคน แต่ ณ วันนี้ ฟุตบอลหมาก 4-4-2  ถูกบางทีมปัดฝุ่นมาใช้ได้อย่างได้ผล


        ถามแฟนคลับของระบบนี้อย่าง รอย ฮ็อดจ์สัน ว่าข้อดีของมันคืออะไร กุนซือทีมชาติอังกฤษ บอกว่า


        "การเล่น 4-4-2 ทำให้คุณการันตีว่ามีนักเตะ 2 คนอยู่ทั่วสนาม"


        แปลให้เข้าใจง่ายๆ คือหมากนี้ค่อนข้างเฉลี่ยความสมดุลกว่าเพื่อน เพราะไม่ว่าบอลอยู่พื้นไหนของสนาม คุณมีสองคนที่พร้อมจะเล่น หรือซัพพอร์ตกัน ผิดกับบางระบบ อาจเด่นตรงกลาง แต่ด้านข้างสนามเป็นบ่อน้ำมัน หรือบางแผน ครองบอลได้มากจริง แต่กองหน้าโด่เด่ ขาดตัวสนับสนุน


        สำคัญกว่าการไม่ได้บอลมาครอบครองเท่าคู่แข่ง คือคุณยัดกองหน้าแพ็กคู่ ลงไปกดดันเซนเตอร์ฮาล์ฟแบบตัวต่อตัว


        ไม่มีกองหลังคนไหนหรอกครับที่อยากเผชิญสถานการณ์นี้ ต้องรับมือ 1v1 กับกองหน้า


        นั่นคือเหตุผลที่ มาร์ติน สเคอร์เทล กับ มามาดู ซาโก้ ดูอกสั่นขวัญแขวนพิลึก เตะทิ้งเตะขว้าง สกัดโฉ่งฉ่าง ไม่รู้เหนือใต้ เพราะกองหน้าย่อมเร็วกว่าคล่องกว่า และมักมีเทคนิคสูงกว่าพวกกองหลัง


        ผมเคยคิดเล่นๆ ว่าจะหาวิธีรับมือหรือหยุด เจมี่ วาร์ดี้ ได้อย่างไร? กองหน้าคนนี้ทั้งเร็ว แกร่ง ทะลุทะลวง ไม่ต้องอยู่กับบอลมาก ขอโอกาสเดียว ทีเดียวจบสกอร์ได้เลย


        มันยากนะครับกับการจับกองหน้าประเภทนี้ และมันแสบสันตรงที่ว่าเลสเตอร์ เล่นเข้ากับสไตล์ของวาร์ดี้ แบบเหมาะเหม็งลงล็อกที่สุด


        รอจังหวะที่คู่แข่งเปิดจุดอ่อนให้มากที่สุด นั่นคือตอนดันขึ้นบุกใส่พวกเขา ปล่อยพื้นที่ด้านหลังอ้าซ่า เมื่อนั้นแหละคือนาทีอันตรายของ เจมี่ วาร์ดี้


        เหมือนเกมที่แมนฯ ยูไนเต็ด โดนสวนโป้งเดียวจาก แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล ขว้างบอล และ คริสเตียน ฟุคส์ จ่ายทีเดียวหลุดให้วาร์ดี้เข้าไปสังหาร


        สถานการณ์แบบนี้ไม่มีเซนเตอร์ฮาล์ฟคนไหนในโลก วิ่งเร็วพอจะไล่กวดทัน


        อดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าหรือบางที เราอาจต้องย้อนกลับไปถึงยุคที่การประกบ "แมน-ทู-แมน" ยังได้รับความนิยม


        เหมือนตอนที่เยอรมันตะวันตก ยอมเสีย โลธ่าร์ มัทเธอุส ให้ตามประกบ ดีเอโก้ มาราโดน่า แบบไม่ให้คลาดสายตาไปไหนในนัดชิงฟุตบอลโลก 1986


        จริงอยู่ วาร์ดี้ ก็แค่นักเตะโนเนม ไม่มีหัวนอนปลายตีน ฝีเท้าแค่ขี้เล็บเมื่อเทียบกับมาราโดน่า แต่ถามว่าเซนเตอร์ฮาล์ฟส่วนสูง 6 ฟุตสาม หรือ 6 ฟุตสี่ คนไหนจะกลับตัววิ่งแข่งทัน

 


        มันเสี้ยววินาทีเท่านั้นเองนะครับที่เขาโฉบไปถึงลูก หรือชิงแย่งบอลตัดหน้ากองหลัง


        แมนฯ ยูไนเต็ด หรือเชลซี ในครึ่งหลัง ลองงัดไม้ตายที่เคยทำให้ 4-4-2 สูญพันธุ์มาแล้วในอดีต ด้วยการเล่นหมากเซนเตอร์แบ็กสามคน


        แต่แค่กะพริบตา ตาข่ายหลัง ดาบิด เด เคอา ก็สั่นพั่บๆ เพราะหยุดวาร์ดี้ ไม่ได้ตลอด


        บ็อกซิ่งเดย์ ผมอยากเห็นว่า เจอร์เก้น คล็อปป์ จะมีวิธีไหนรับมือดาวยิงที่ฮอตที่สุดคนนี้


        แต่ครั้นนึกถึงเกมล่าสุดที่โดนคู่หูแตนอาละวาด ยิงไส้ไหลเป็นที่น่าอดสูยิ่ง


        ผมทำใจไปแล้วครึ่งหนึ่งว่าลุงซานต้า คงไม่ใช่เด็กหงส์แหงๆ...

 


...มาริโน่...

เครดิต : http://www.siamsport.co.th/Column/151224_080.html

Views: 699

Reply to This

Replies to This Discussion

ควรต้องตั้งโซนให้มันคง ก่อนการบอกว่าบุกแหลกแล้วแพ้ ได้แต่แช้มป์ครองบอล แต่เขานับจากประตูนะ

442 -- 4231 --351  หรือสูตรไหนก็แล้วแต่ ดูซะก่อนว่านักเตะในทีมถนัดเล่นตรงไหน   ตอนซื้อนักเตะมาไม่ได้สำรวจเรอะ และผจกทีม ไม่ไ้ด้ถนัดทำทีมในสูตรที่ตัวเองชอบรึครับ ผจกชอบ 4231 แต่ นักเตะไม่มีตำแหน่งที่ใช่ มันจะเวิกรึเปล่า... 

เปรเญปีแรกที่เข้ามาก็หน้าคู่นะ  ยิงกระจุย 100+  นั่นไงล่ะ

กุน + เชโก้ / เชโก้ + เนเกรโด้ / เชโก้ + โยเวติช

คือ 3 รูปแบบที่เคยใช้งาน   แม้กระทั่งปีที่ซิตี้ได้แชมป์ครั้งแรกก็หน้า 2 ครับ

กุน + เชโก้ / กุน + โอ้ / กุน + เตเวส / เชโก้ + เตเวส / เชโก้ + โอ้

คือทั้งหมดที่ใช้งานในปีนั้นและปีนั้นยิงทั้งหมดทุกรายการราวๆ 90 ลูก

ผมล่ะแปลกใจเมื่อ มันชินี่ และ เปรเญ ช่วงท้ายๆของการคุมทีมของทั้ง 2 ดันหันมาใช้แผนกองหน้าคนเดียว  ดันกลางรุกไปเป็นหน้าต่ำซะงั้น(เปรเญก็น่าจะถือว่าช่วงท้ายๆละนะ)

ลูกที่ เนเกรโด้ หลอกเวสแฮมให้ กุน หลุดไปยิงโล่งๆ

ลูกที่ ซาบา เปิดเข้ากลาง กุน ชาร์จไม่โดนแต่ว่า โอ้ อยู่เสาสองแปเข้าใส่แมนยู

ลูกที่ กุน จ่ายให้ เนเกรโด้ ชาร์จง่ายๆจากการสวนกลับในเกม UCL

ลูกที่ โอ้ ไหลบอลนาทีพลิกประวัติศาสตร์ให้ กุน ยิงคว้าแชมป์ครั้งแรกของทีม

ลูกที่ เชโก้ แอสซิสให้กับ โยเวติช หลุดไปยิงในเกมคาร์ลิ่งคัพ

แทบจะทุกเหตุการถ้าไม่ใช่โอกาสในการสวนกลับ  ก็จะเป็นการที่ชาวบ้านลงไปอุด  แต่พอมีกองหน้าเพิ่มขึ้นการเปิดบอลเข้าไปในกรอบไม่ว่าด้วยวิธีการใดมันก็กดดันคู่แข่งได้มากกว่า

แต่ว่าแทนที่จะคงแผนการเล่นพวกนี้ไว้กลับเปลี่ยนไป  เปรเญ เปลี่ยนแผนในช่วงที่กองหน้าทะยอยเจ็บจนไม่มีตัวแทน  จนสุดท้ายกลายเป็นว่าเราใช้แผนหน้าเดี่ยวยาวๆและค่อยๆพลาดท่าแพ้จนอดคว้าแชมป์ในปีก่อน

มันชินี่ เจอพิษกองหน้ายิงไม่ค่อยได้เลยถอดออกแล้วใช้กองกลาง 5 ตัวปรากฏว่าดำดิ่งลงเหวกว่าเดิมและโดนปลดออกในที่สุด

ใจจริงอยากให้ เป๊บ มาประยุกต์สร้างแผน 4-4-2 แบบใหม่ในปีหน้าให้ซิตี้ในปีหน้าจริงๆ  กองหน้า 2 ถ้าเป็นพวกขยันๆวิ่งไล่  มันก็ไม่ต่างจากมีกองกลาง 5 หรือ 6 คนเลย   หานักเตะแบบ เตเวส และ กุน  เอาที่วิ่งไล่บอลเพรสซิ่งเกมผมเชื่อว่าแผนนี้เข้าท่า  ไม่ต้องมีหน้าเป้าใหญ่ๆอย่างเดียวก็จ่ายบอลไปมาได้

ก็จริงครับหน้าเดี่ยวดูกุนอ้างว้างเกินไปได้บอลโครตจะน้อยในแต่ล้ะเกมส์ แล้วก็กุนกับโบนี่ดูจะไม่เข้ากันเลยสักนิดถ้าเป็นเชโก้เหมือนแต่ก่อนหรือโยเสติชเนรเกรโด้พวกนั้นว่าไปอย่าง

ปีแรกหน้าคู่ยิงกระจาย แต่เปเญคคงคิดว่าอายุกองกลาง และอาการบาดเจ็บของนักเตะกองกลางกองหลัง การเล่น 4 2 3 1 น่าจะช่วยเซฟตรงนี้ได้ แต่ผิดคาด

อยากเห็นหน้าคู่บ้างแต่เรามีแต่เตี้ยๆ

ขอหน้าคู่คับเอาโก้ผมกลัมมา

ซื้อว่าร์ดี้มาเล่นหน้าคู่กับกุน จะสุดยอดมากเลยครับ

ไม่ค่อยเพรชซิ่งกันเลย

RSS

© 2024   Created by thaiMCFC.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service

Text Link Ads script error: local_200939.xml is not writable. Please set write permissions on local_200939.xml.