Members

แมนฯ ซิตี้ จะได้อะไรหากเทคโอเวอร์ทีมไทยลีก?

แม้จะโดนค่อนขอดว่า "ไม่มีประวัติศาสตร์" แต่ถึงเวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คือหนึ่งในมหาอำนาจแห่งวงการฟุตบอลยุคใหม่ จากความสำเร็จที่พวกเขาคว้ามาอย่างต่อเนื่อง


 

แน่นอน ด้วยจำนวนถ้วยแชมป์ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น และงบประมาณอันมหาศาลจากเจ้าของ ทุกย่างก้าวของทีมเรือใบสีฟ้าจึงน่าจับตามอง

แต่ข่าวลือล่าสุดในเรื่องที่ว่า แมนฯ ซิตี้ จะเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรในศึกไทยลีก ลีกฟุตบอลอาชีพของไทย เกิดขึ้นได้อย่างไร และทีมเรือใบสีฟ้าจะได้ประโยชน์ใดในการเข้ามาเปิดตลาดด้วยการเล่นใหญ่ในดินแดนขวานทอง?

 

ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป

แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าว เราคงต้องกล่าวถึงอีกหนึ่งตัวละครสำคัญจากฟากฝั่งเรือใบสีฟ้าอย่าง ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป (City Football Group) หรือ CFG เสียก่อน

นับตั้งแต่ที่ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน แห่งอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซื้อกิจการสโมสรแมนฯ ซิตี้ ต่อจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2008 เม็ดเงินมหาศาลก็ได้ถูกอัดฉีดเข้าไป ทำให้ทีมมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด ไม่มีอีกแล้วกับทีมที่เคยต้องลงไปเล่นถึงดิวิชั่น 2 (ลีกวัน ณ ปัจจุบัน) ในช่วงปลายยุค 1990s เพราะพวกเขาได้สถาปนาตัวเองสู่ทีมที่ล่าความสำเร็จขั้นสูงสุดในทุกๆ ปีแบบแทบจะทันที

ทว่าความทะเยอทะยานของแมนฯ ซิตี้ ไม่ได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เพราะปณิธานของ ชีค มานซูร์ และกลุ่มทุนแห่งอาบูดาบี คือการมีส่วนร่วมกับวงการฟุตบอลทั่วโลกทั้งในและนอกสนาม เพื่อเผยแพร่ทัศนคติการเล่นฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จอย่างเร้าใจ และพัฒนานักเตะสายเลือดใหม่ขึ้นมาประดับวงการ

ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงได้ก่อตั้ง CFG ขึ้นมาในปี 2013 เพื่อดำเนินธุรกิจฟุตบอลทั้งองคาพยพ ตั้งแต่สโมสรฟุตบอล, ระบบอะคาเดมี่, โค้ช และการตลาดในเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก

 

รุกคืบสู่ทุกทวีป

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับฟุตบอลต้องใช้เงินทุนมหาศาล แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับ ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป เมื่อพวกเขามี อาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป ของ ชีค มานซูร์ ถือหุ้นสูงถึง 87% และ ไชน่า มีเดีย แคปิตอล ถือหุ้นอีก 13% ซึ่งทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า กลุ่มทุนจากอาบูดาบีและจีนนั้นมีเงินทุนมหาศาลขนาดไหน


Photo : eurosport.com

และนับแต่นั้นมา CFG ก็รุกคืบสู่วงการฟุตบอลในทวีปต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เริ่มด้วยการเป็นผู้ถือหุ้น 80% ก่อตั้ง นิวยอร์ก ซิตี้ เอฟซี แฟรนไชส์ลูกหนังของศึก เมเจอร์ลีก ซอคเก้อร์ หรือ MLS ในสหรัฐอเมริกาขึ้นเมื่อปี 2013 (อีก 20% เป็นของ นิวยอร์ก แยงกี้ส์ ทีมดังแห่ง เมเจอร์ลีก เบสบอล หรือ MLB) ต่อด้วยการเทคโอเวอร์สโมสร เมลเบิร์น ฮาร์ท ในศึก เอลีก ออสเตรเลีย และเปลี่ยนชื่อเป็น เมลเบิร์น ซิตี้ เอฟซี ในปี 2014 ปีเดียวกับที่พวกเขาซื้อหุ้น 20% ของ โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส แห่ง เจลีก ญี่ปุ่น (อีก 80% ถือหุ้นโดย นิสสัน บริษัทรถยนต์เจ้าของทีมเอฟ มารินอส ซึ่งกลายเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของทีมเรือใบสีฟ้าด้วย)

การซื้อทีมฟุตบอลของ CFG เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2017 และเป็นอีกปีที่พวกเขาจัดถึง 2 ทีม โดยเป็น คลับ แอตเลติโก ตอร์เก ในประเทศอุรุกวัย และ คิโรน่า ทีมในสเปน (ถือหุ้น 44.3% เท่ากับกลุ่ม คิโรน่า ฟุตบอล กรุ๊ป ที่นำโดย เปเร น้องชายของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กุนซือแมนฯ ซิตี้ คนปัจจุบัน) ที่เข้ามาอยู่ใต้สังกัดเรือใบสีฟ้า ก่อนที่จะซื้อหุ้นของ เสฉวน จิวหนิว ทีมของประเทศจีนเป็นทีมล่าสุดเมื่อช่วงต้นปี 2019 ที่ผ่านมา


Photo : Yokohama F.Marinos

ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้น ทำให้ CFG มีสโมสรฟุตบอลในเครือข่ายแล้วถึง 7 สโมสร ซึ่งมีเพียง โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส ทีมเดียวเท่านั้นที่พวกเขาไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ แต่พวกเขาก็ยังไม่คิดจะหยุดอยู่เพียงเท่านี้แต่อย่างใด ยืนยันได้จากสิ่งที่ คัลดูน อัล มูบารัก ประธานสโมสรแมนฯ ซิตี้ และหนึ่งในผู้บริหารคนสำคัญของ CFG กล่าวเมื่อปี 2016 ว่า

"เรามีความทะเยอทะยานในฐานะกลุ่มฟุตบอลที่จะเป็นองค์กรที่สากล และจะมีหลายสโมสรร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วย ผมอยากกล่าวว่าเมื่อมีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเรากำลังมองหามันอยู่ จะมีสโมสรอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในกลุ่มนี้ มันอาจเร็วไปที่จะบอกว่าทีมนั้นคือทีมใด แต่เมื่อถึงเวลาและได้สถานที่อันเหมาะสม คุณก็จะได้เห็นเอง"

 

ซื้อทีมไทยแล้วซิตี้จะได้อะไร?

คำพูดของประธานสโมสรเรือใบสีฟ้า ถูกตอกย้ำด้วยข่าวลือการเทคโอเวอร์สโมสรอื่นๆ ในประเทศอย่าง อินเดีย หรือแม้กระทั่ง มาเลเซีย โดยมีการเปิดเผยเป้าหมายด้วยว่า ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป ตั้งใจที่จะมีสโมสรที่เป็นตัวแทนของพวกเขาในทุกทวีปทั่วโลก


Photo : Thai League

ทว่าล่าสุด ไพวงษ์ เตชะณรงค์ นักธุรกิจหนุ่มใหญ่เจ้าของอาณาจักร โบนันซ่า ได้เผยว่า ทาง แมนฯ ซิตี้ กำลังเดินหน้าขอเจรจากับสโมสรแห่งหนึ่งในไทยลีกเพื่อหวังต่อยอดธุรกิจลูกหนังในประเทศไทย และนั่นนำมาซึ่งคำถามที่ว่า หากการเจรจาประสบผลขึ้นมาจริง แมนฯ ซิตี้ จะได้ดอกผลอันใดบ้างจากดีลนี้?

แน่นอน สิ่งแรกที่ทุกคนพูดถึงเมื่อมีการเทคโอเวอร์ หรือร่วมทุนในกิจการสโมสรฟุตบอลโดยกลุ่มทุนจากต่างชาติ คือเรื่องการขยายตลาด ซึ่งเมื่อดูจากจำนวนประชากรก็ทำให้เราเชื่อได้ เพราะในปัจจุบัน จำนวนประชากรของไทยนั้นอยู่ที่ราวๆ 66.3 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 22 ของโลก ซึ่งหากเทียบกับประเทศที่ CFG เข้าไปมีเอี่ยวแล้วก็จะน้อยกว่าแค่เพียง จีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และอังกฤษ 

ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ประชากรให้ความสนใจในกีฬาฟุตบอลมากเป็นอันดับ 3 ของโลก จากการสำรวจของ นีลเส็น (Nielsen) บริษัทวิจัยทางการตลาดระดับโลกเมื่อปี 2014 โดยมีประชากร 77% จากทั้งประเทศที่สนใจสิ่งนี้ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การซื้อสโมสรไทยลีกจากแมนฯ ซิตี้ จะได้รับความสนใจจากชาวไทยทั้งประเทศอย่างแน่นอน ไม่ต่างกับตอนที่นักธุรกิจชาวไทยมากหน้าหลายตาไปซื้อกิจการทีมฟุตบอลในต่างประเทศแต่อย่างใด


Photo : Thai League

เรื่องต่อมาที่ทีมเรือใบสีฟ้าจะได้ คงหนีไม่พ้นการเป็นพื้นที่ปล่อยของสำหรับนักเตะและทีมสตาฟฟ์ เพราะในทุกปี แมนฯ ซิตี้ จะส่งนักเตะในสังกัดของตนไปเก็บประสบการณ์กับทีมต่างๆ ทั้งในรูปแบบการยืมตัวและขายขาดพร้อมออปชั่นซื้อกลับ อย่างที่เราได้เห็นดาวรุ่งอย่าง แพทริค โรเบิร์ตส์ ไปเล่นให้กับ คิโรน่า ในฤดูกาล 2018/19 หรือแม้แต่ตอนที่ ดาบิด บีย่า ย้ายไปเล่นให้ เมลเบิร์น ซิตี้ แบบเซอร์ไพรซ์ในช่วงปลายปี 2014 ระหว่างรอการเปิดฤดูกาลแรกของ นิวยอร์ก ซิตี้ เอฟซี ต้นสังกัดที่แท้จริงในปี 2015

อีกสิ่งสำคัญที่แมนฯ ซิตี้ จะได้จากการเทคโอเวอร์ทีมไทยลีก คือการได้แหล่งสร้างนักเตะสายเลือดใหม่เพิ่มอีกแห่ง หากนักเตะไทยคนไหนฝีเท้าดีจริง ก็สามารถก้าวสู่วงจรของทีมเรือใบสีฟ้าได้ เหมือนอย่างกรณีของ อารอน มอย จอมทัพทีมชาติออสเตรเลียที่ใช้ เมลเบิร์น ซิตี้ เป็นประตูสู่พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ ซึ่งแม้การไปเล่นให้กับแมนฯ ซิตี้ อาจยากเอาการจากปัญหาเวิร์กเพอร์มิต แต่ยังมีทีมในอีกหลายประเทศที่พร้อมโอบรับ ทั้งในเอเชียอย่าง โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส, เมลเบิร์น ซิตี้, เสฉวน จิวหนิว หรือจะไปเล่นในยุโรปกับ คิโรน่า ก็ไม่ไกลเกินฝัน

 

แล้วฟากฝั่งไทยล่ะ?

เราพูดถึงสิ่งที่แมนฯ ซิตี้ จะได้ประโยชน์จากการเข้ามาซื้อทีมฟุตบอลในไทยแล้ว ก็คงต้องพูดถึงวงการฟุตบอลไทยเสียหน่อยว่า จะได้ประโยชน์อันใดบ้างจากการเข้ามาของกลุ่มทุนระดับโลกนี้


Photo : Thai League

แน่นอน สิ่งแรกที่จะเห็นผลในทันตา คือความคึกคักในวงการฟุตบอลไทยที่จะกลับมาอีกครั้งเมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่กระโดดลงสู่สมรภูมิ และช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ว่า ไทยลีก คือลีกฟุตบอลอาชีพหมายเลข 1 ในภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง

ประการต่อมาถือเป็นสิ่งที่สืบเนื่องจากสิ่งที่ทีมเรือใบสีฟ้าได้จากการได้พื้นที่ให้นักเตะและสตาฟฟ์โค้ชได้ทำงานในสนามจริง คือคุณภาพของไทยลีกที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากบุคลากรที่ผ่านมาตรฐานระดับโลกเหล่านี้ ส่วนสิ่งที่หลายคนครหาว่า การเข้ามาของกลุ่มทุนเงินหนาจะทำให้ทีมที่มีแมนฯ ซิตี้อยู่เบื้องหลังประสบความสำเร็จแบบขาดลอยนั้น หากเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมในประเทศอื่นๆ คงบอกได้ว่า ก็ไม่แน่นอนถึงขนาดนั้น เพราะทีมในกลุ่ม CFG ที่สามารถคว้าแชมป์ได้หลังการเทคโอเวอร์ มีเพียง เมลเบิร์น ซิตี้ ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยออสเตรเลีย กับ ตอร์เก ที่คว้าแชมป์ลีกรองอุรุกวัยในปี 2017 เท่านั้นเอง


Photo : ฟุตบอลทีมชาติไทย

สิ่งสุดท้ายที่วงการฟุตบอลไทยจะได้ คงหนีไม่พ้นการพัฒนานักเตะเยาวชนจากทีมงานระดับโลกของแมนฯ ซิตี้ ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนคงเห็นว่า เด็กไทยนั้นมีความสามารถ แต่อาจจะด้วยการขาดการเพาะบ่มตามแบบอย่างที่ถูกที่ควร ทำให้พวกเขาไปได้ไม่สุด การมีบุคลากรมากฝีมือที่ผ่านการรับรองจากทีมเรือใบสีฟ้ามาฝึกสอน ก็น่าจะช่วยให้นักเตะไทยพัฒนาศักยภาพได้ไกลกว่าเดิม จนอาจมีนักเตะที่ตามรอยตัวอย่างของ อารอน มอย ที่สามารถถีบตัวจากทีมพันธมิตรของแมนฯ ซิตี้ สู่การเป็นนักเตะในเวทีระดับโลกได้สำเร็จในอนาคตอันใกล้

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาคงพอทำให้ทุกท่านเห็นภาพว่า หากข่าวที่ แมนฯ ซิตี้ จะเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรในศึกไทยลีกเกิดขึ้นจริง จะเกิดประโยชน์อย่างมากทั้งกับทางแมนฯ ซิตี้ และวงการฟุตบอลไทย แต่สิ่งที่เราต้องติดตามต่อจากนี้คือ เรื่องดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ กับสโมสรใดของไทยในรูปแบบไหน จะเป็นการเทคโอเวอร์ 100% หรือร่วมทุน และแน่นอนที่สุดคือ เมื่อการเข้ามาสู่ประเทศไทยเกิดขึ้นแล้ว แมนฯ ซิตี้ จะมีโร้ดแมปใดในการขับเคลื่อนสโมสรเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์บ้าง

//////////////////////////////////////////////////

Cr mainstand.

Views: 629

Reply to This

Replies to This Discussion

..ไม่มีประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ..

..แต่มีปัจจุบันที่ผลประกอบการทางธุรกิจมีมูลค่าสูงสุด..

..มีการพัฒนาการบริหารจัดการทีมสามารครองทริปเปิ้ลแชมป์ยิ่งใหญ่ที่สุดในอังกฤษ..

..และจะมีอนาคตที่ยิ่งใหญ่รุ่งเรืองมากกว่าทีมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานทั้งหลาย !

ประชากร 66 ล้าน  น้อยกว่าแค่ จีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และอังกฤษ 

แต่เอาจริงๆนะ  ไอ้ชื่อที่กล่าวมาด้านบนเขามีคนเยอะ กว่าไทยแบบหลายเท่าเลย  จีนก็มี 1.3 พันล้านคน  สหรัฐก็ 600 ล้านคน

ญี่ปุ่นถ้าจำไม่ผิดราว 125 ล้าน

อังกฤษ 70 - 75 ล้าน

ยังไม่นับเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นฐานสำคัญของรายได้  ประเทศในอาเซียนด้อยกว่าชาวบ้านเขาหมด   เพราะงั้นเอาจริงๆ  แมนซิตี้กรุ๊ปคงไม่ได้หวังอะไรจากประเทศไทยมากไปกว่าการปักหมุด

เพราะไทยมีคนน้อยแค่ 66 ล้าน   แต่ถ้าฝังตัวเป็นศูนย์กลางได้  อาเซียนมีประชากรรวมกัน 600 ล้านคน  ส่วนใหญ่ไปกองที่อินโดอะนะ  แต่ถ้าติดตามดูข้อมูลจะรู้เลยว่าในภูมิภาคนี้  ไม่ว่าจะพม่า มาเล อินโด  ยอมรับว่าไทยลีคเราแกร่งที่สุด

จะมีก็แค่เวียดนามที่พยายามแข่งขันกับไทยลีค  ซึ่งคงอีกนานเพราะราวนั้นแข่งแบบไม่มีต้นทุน  ขณะที่ไทยมีเงินหมุนเวียนน่าจะอันดับ 3 ในวงการฟุตบอลอาเซียน  เป็นรอง มาเล(รวยกว่า) และ อินโด(คนเยอะกว่า) 

ถ้าเทคเมืองทอง แล้วเปลี่ยนเสื้อเมืองทองเป็นสีฟ้า แล้วกูจะฮาให้ดู 

สงสัยงานนี้ ไอ้ นสพ กีฬาชื่อดัง(เครือเดียวกับเมืองทอง)  มันคงจะหันไปเลียตูดทีมบุรีรัมย์ของไอ้เนวินแน่นอลล 

ครั้งแรกก็เชียร์เชียงราย เชียงใหม่ เมืองทอง แต่วันนี้คิดอีกทีหรือจะเป็น..แบงก์คอกยูไนเต็ดถ้ามาจริงๆโคตรเงินกับโคตรเงินรวมกันเท่ากับแชมป์แน่นอน....สมการแมนซิตี้โว้ย

RSS

© 2024   Created by thaiMCFC.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service

Text Link Ads script error: local_200939.xml is not writable. Please set write permissions on local_200939.xml.